7 ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ ชาว DPlus Guide! วันนี้ “บุหลันดั้นเมฆ” หนึ่งใน ทีมงาน DPlus Guide ขอแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเอง โดยนำประสบการณ์และความทรงจำดีๆ ที่ได้รับจากการเที่ยวเอง-ลุยเอง-เอาตัวรอดเอง มาสรุปเอาไว้เป็น “ทริค 7 ข้อ เพื่อการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ” ให้เพื่อนๆ นำไปใช้ประโยชน์กันค่ะ

เที่ยวญี่ปุ่นเอง ด้วย 7 ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

เชื่อว่าหลายๆ คนที่คลิกเข้ามาอ่านในบทความนี้ มักจะเป็นคนที่ชื่นชอบในการไปท่องเที่ยวด้วยตัวเองใช่ไหมคะ แต่ในการไปญี่ปุ่นครั้งแรกอาจจะยังกังวลในเรื่องของภาษา ฟังญี่ปุ่นไม่ออก แถมไม่เก่งภาษาอังกฤษอีก มันจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

วันนี้เรามีทริคพื้นฐานในการเอาตัวรอดในญี่ปุ่นที่เราเคยใช้จริงแล้วได้ผลมาฝากค่ะ มาดูกันเลยค่ะ

 

ข้อแรก ยิ้มเข้าไว้ แล้วจะรอด…

ประสบการณ์ที่เคยเจอกับตัวเอง คือตอนผ่าน ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) ค่ะ ด้วยความที่ตอนนั้นไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก แถมยังเป็นประเทศแรกที่เราจะได้ออกไปเที่ยวนอกจากเมืองไทย เลยทำตัวตื่นเต้นผิดปกติจากคนอื่นๆ บวกกับเคยได้ยินมาว่า “ตม. ที่นี่โหดมาก!!!” ตอนผ่านตม. ครั้งแรกก็โดนเลยค่ะ โดนถามเยอะกว่าคนทั่วไป และด้วยสำเนียงภาษาอังกฤษของคนญี่ปุ่นที่ทำเราสับสนนิดหนึ่ง ถึงกับเขวในการที่จะตอบคำถาม ในใจคิดว่าเอาไงดี ยิ้มไปแล้วกัน มองตากันอยู่สักพัก สุดท้าย ตม. ก็ปล่อยเราผ่านออกมาค่ะ  รอดไป… (สำหรับทริคนี้ไม่รับปากนะคะว่าจะสามารถใช้ได้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนใน ตม. รึเปล่า สำคัญที่เหตุการณ์ ณ ตอนนั้นบวกกับดวงต้องดีด้วยค่ะ)

แต่ที่ใช้ได้ผลและเห็นได้ชัดๆ น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่คนญี่ปุ่นรู้ว่าเราเป็นคนไทยแล้วพยายามชวนเราคุยแต่เราฟังไม่ออกค่ะ เราก็ยิ้มไปซึ่งเขาก็ยิ้มกลับมาประมาณว่าเข้าใจกัน หรือที่เรียกว่าใช้ภาษากายคุยกันนั่นแหละค่ะ ^^

เที่ยวญีปุ่่นเอง "ยิ้มเข้าไว้ แล้วจะรอด" ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

 

ข้อ 2. จำไว้ 3 คำนี้ ท่องให้ขึ้นใจ

เวลามีชาวต่างชาติมาเที่ยวบ้านเราแล้วเขาพยายามที่จะพูดภาษาไทยดูน่ารักน่าเอ็นดูดีนะคะ คนญี่ปุ่นก็มองเราแบบนั้นเช่นกันค่ะ 3 คำนี้ท่องให้ขึ้นใจได้ใช้แน่นอน

“ไฮ!” = ใช่ค่ะ / ใช่ครับ

“อาริกะโตะ โกไซอิมัส” = ขอบคุณค่ะ / ขอบคุณครับ

“โกเม็นนาไซ” =  ขอโทษค่ะ / ขอโทษครับ

สังเกตได้หลังจากที่พูดจบเราจะเห็นรอยยิ้มของคนญี่ปุ่นที่แตกต่างไปจากเดิมแน่นอน… ^^

เที่ยวญี่ปุ่นเอง "จำไว้ 3 คำนี้ ท่องให้ขึ้นใจ" ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

 

ข้อ 3. รูปภาพช่วยชีวิต

ในกรณีที่เราท่องเที่ยวด้วยตัวเอง แล้วเกิดหลงทางบอกชื่อสถานที่ไปคนญี่ปุ่นก็ไม่รู้จัก รูปภาพสามารถช่วยชีวิตเราได้ค่ะ เพราะบางสถานที่คนญี่ปุ่นกับเราอาจจะเรียกชื่อไม่เหมือนกัน หรือสำเนียงของเราอาจจะพูดเพี้ยนจนคนญี่ปุ่นงงก็เป็นได้

ประสบการณ์ที่รูปภาพเคยช่วยชีวิตเราไว้ คือครั้งหนึ่งที่ร้านอาหาร เราดูเมนูหน้าร้านแล้วรู้สึกอยากทานร้านนี้มาก พอเดินเข้าไปดันมีแต่เมนูภาษาญี่ปุ่นไม่มีรูปภาพประกอบด้วย เราเลยขอตัวกับคุณป้าแล้วรีบวิ่งออกมาเพื่อถ่ายรูปอาหารพลาสติกหน้าร้านที่อยากทานแล้วกลับเข้าไปใหม่ คุณป้าใจดีมากช่วยกดที่ตู้สั่งอาหารให้เราด้วยค่ะ  มื้อนั้น…รอดตาย

แล้วก็มีอีกหลายๆเหตุการณ์ที่รูปภาพสามารถช่วยชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราต้องการซื้อยาทานวดขา หรือเป็นตอนที่เราหาของที่ต้องการใช้ในร้านสะดวกซื้อไม่เจอค่ะ

เที่ยวญี่ปุ่นเอง "รูปภาพช่วยชีวิต" ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

 

ข้อ 4. ลองผิด ลองถูก

ของใช้ส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นถูกออกแบบมาให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้ใช้ ซึ่งคนที่เดินทางไปในครั้งแรก อาจจะยังไม่คุ้นเคย และบางอย่างมีแต่ภาษาญี่ปุ่นกำกับ ตัวอย่างเช่น ชักโครก ที่มีปุ่มให้เลือกกดมากมาย ลองกดใช้ดูค่ะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

การลองผิดลองถูกในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปลองซะทุกอย่าง หรือลองมั่วจนเครื่องพังนะคะ ให้ลองเฉพาะในกรณีที่เราจำเป็นต้องใช้ของสิ่งนั้นจริงๆ เช่น ตู้สั่งอาหารอัตโนมัติ หรือถ้าเกินความสามารถของเรายังไง ก็ให้ขอความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่ค่ะ

เที่ยวญี่ปุ่นเอง "ลองผิดลองถูก" ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

 

ข้อ 5. ใจกล้า อย่าอาย

หากต้องการความช่วยเหลือให้กล้าถามค่ะ พูดภาษาอังกฤษเป็นคำๆ ไป แกรมม่าไม่ต้องเป๊ะมากก็ได้ คนญี่ปุ่นฟังออกค่ะ แต่เขาอาจจะพูดกลับมาเป็นภาษาญี่ปุ่นหรืออาจจะพูดภาษาอังกฤษเป๊ะจนเราต้องตะลึง ก็ให้เราย้อนกลับไปอ่านที่ข้อแรกคือ ยิ้มไว้ก่อน หรือทำตามข้อที่สอง ตอบกลับไปว่า “ไฮ!!” แทน เราเคยไปถามทางกับคนญี่ปุ่น แต่เขาอธิบายให้เราฟังไม่ถูก เขาเลยพาเราไปส่งถึงที่เลยค่ะ รู้สึกเกรงใจอย่างแรง

ประสบการณ์ที่เคยเจอ ครั้งนั้นเราไปเที่ยวที่ วัด Tokyo-wan Kannon ที่จังหวัดจิบะค่ะ เป็นวัดที่มีเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่สีขาวตั้งอยู่บนยอดเขาริมทะเล ทางที่จะขึ้นไปได้คือ ต้องโบกแท็กซี่เท่านั้น และเป็นความโชคดีที่เราขอนามบัตรกับคุณลุงแท็กซี่คนนี้ไว้ก่อนจะลง แต่ความโชคร้ายคือ เราไม่มีซิมโทรศัพท์ไว้สำหรับโทร แถมยังมีความโชคร้ายซ้ำสอง คือใน Information Center ของที่นี่ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เลยแม้แต่คนเดียว เราจึงอาศัยความใจกล้า หาใครสักคนเพื่อขอความช่วยเหลือ เราบอกความต้องการให้คุณลุงที่กำลังเดินชมองค์เจ้าแม่กวนอิมฟัง พร้อมยื่นนามบัตรของคุณลุงแท็กซี่ให้ และก็ได้ผลจริงๆ ค่ะ กลับลงมาขึ้นรถไฟไปโตเกียวด้วยเวลาที่เฉียดฉิวพอดี…

เที่ยวญี่ปุ่นเอง "ใจกล้า อย่าอาย" ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

 

ข้อ 6. รู้จักเอะใจ แล้วกลับตัวให้เร็ว

การท่องเที่ยวด้วยตัวเองหรือการมาเที่ยวคนเดียว สติสำคัญที่สุดค่ะ ยกตัวอย่างเช่นการขึ้นรถไฟ อย่างที่หลายๆ คนทราบกันดีว่ารถไฟที่ญี่ปุ่นค่อนข้างตรงเวลามาก ยิ่งถ้าเป็นรถไฟในเมืองโตเกียวด้วยแล้ว รถไฟจะมาถี่มากโดยที่แต่ละขบวนก็จะมีปลายทางที่ต่างกันออกไป

ประสบการณ์ที่เคยเจอกับตัวเองก็คือการขึ้นรถไฟผิดขบวน จากที่เช็กเวลาใน เว็บไซต์ Hyperdia บอกกับเราว่ารถไฟจะออกในเวลา 08:12 น. ซึ่งในตอนที่เราไปถึงชานชลาเป็นเวลา 08:05 น. เรารออีกสักพัก รถไฟก็มาค่ะ มาตอน 08:07 น. เราก็ขึ้นไปหาที่นั่งเรียบร้อย รถไฟปิดประตูตอน 08:09 น. เริ่มไม่ใช่แล้ว เราเช็คดูใน Google Maps ปรากฏว่า ถ้าเลยไปอีก 2 สถานีจะเป็นทางแยก ท่าไม่ดีแล้วแฮะ เรารีบกระโดดลงสถานีหน้าแล้วเริ่มต้นใหม่ค่ะ ไม่อย่างนั้นก็คงจะหลงไปไหนต่อไหนไกลเป็นแน่เลย… เพราะฉะนั้นต้องมีสติค่ะ สติ

เที่ยวญี่ปุ่นเอง "รู้จักเอะใจ แล้วกลับตัวให้เร็ว" ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

 

ข้อ 7. ช่างสังเกต

การท่องเที่ยวในต่างแดนเราต้องเป็นคนช่างสังเกตให้มากๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทาง กฎระเบียบต่างๆ หรือมารยาททางสังคมของที่นี่ ยกตัวอย่างเช่น   การส่งเสียงดังขณะที่อยู่บนรถไฟในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นข้อห้ามนะคะ (ดูเพิ่มเติมได้ที่: มารยาทควรรู้ ก่อนเที่ยวญี่ปุ่น : ภาคการเดินทางภายในญี่ปุ่น) และจุดที่ใช้ต่อแถวก่อนขึ้นรถไฟ บางสถานีจะมีป้ายที่พื้นบอกว่า “Women Only” หากคุณผู้ชายหลงไปต่อคิวที่แถวนี้อาจจะมีอายได้ค่ะ

เที่ยวญี่ปุ่นเอง "ช่างสังเกต" ทริคพื้นๆ ในการเอาตัวรอด ณ แดนปลาดิบ

เพียงแค่นี้เราก็สามารถเอาตัวรอดที่ประเทศญี่ปุ่นได้แล้วในระดับหนึ่งแล้ว เที่ยวให้สนุกนะคะ…

เรื่องและภาพ: บุหลันดั้นเมฆ DPlus Guide Team

เราเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นเกือบทุกภูมิภาคในหลากหลายฤดู และประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น รวมทั้งประเทศในโซนยุโรป เพื่อถ่ายภาพรวบรวมข้อมูล ออกมาเป็นผลงานในรูปแบบหนังสือ และสื่อสาระด้านท่องเที่ยว & ไลฟ์สไตล์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และภาคภูมิใจของพวกเรา DPlus Guide Team