ปัจจุบัน หนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต ที่ใช้ๆกันอยู่จะเป็น e-Passport หรือ หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือทั้ง 2 ข้าง และถ่ายภาพใบหน้าของเจ้าของ ใส่ไว้ในไมโครชิพแบบ RFID ที่ฝังอยู่ในตัวหนังสือเดินทาง ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี และเมื่อใกล้จะหมดอายุหรือหมดอายุไปแล้ว ก็จะต้องไปยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตเล่มใหม่เท่านั้น จะไม่มีการต่ออายุเหมือนในอดีต (หากเล่มเก่ายังอยู่ แนะนำให้พกติดตัวไปด้วย)
รวมไปถึงกรณีที่จำนวนหน้าในเล่ม ถูกใช้ประทับตราจนเต็มแล้วก็จะต้องไปทำเล่มใหม่ ไม่สามารถนำไปเพิ่มหน้าเหมือนแต่ก่อนได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งกรณีที่การตรวจลงตราหรือ VISA ในเล่มเก่าจะยังมีอายุใช้งานได้อยู่ก็ตาม แต่จะอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอใช้หนังสือเดินทางเล่มเก่าที่วีซ่ายังไม่หมดอายุ ควบคู่ไปกับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ (ถือ 2 เล่ม แม้เล่มเก่าจะถูกยกเลิก แต่วีซ่ายังมีอายุใช้งานได้อยู่)
ในการยื่นเรื่องขอทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตนั้น จริงๆแล้วก็ไม่ได้มีกระบวนการหรือขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะหากเป็นบุคคลทั่วไปที่ถือสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะแล้ว คือมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ก็ใช้เพียงแค่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ยื่นขอเพียงใบเดียว กับ ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และ ค่าไปรษณีย์ 40-60 บาท (ในกรณีให้มีการจัดส่งทางไปรษณีย์) เบ็ดเสร็จแล้วเอาเข้าจริงตั้งแต่รับบัตรคิวจนชำระเงินเสร็จสิ้น จะใช้เวลาแค่ไม่ถึง 15 นาที เว้นเสียแต่ในบางวันหากมีผู้มาใช้บริการเยอะ อาจทำให้เราต้องเสียเวลาไปกับการรอคิวนานหลายนาที ยิ่งถ้าเราเป็นคนยุ่งๆมีเวลาน้อย ทุกสิ่งอย่างจะต้องเป็นไปตามกำหนดเวลาเป๊ะๆ การที่จู่ๆเราจะตัดสินใจออกเดินทางไปทำเลยโดยไม่เตรียมตัวไปก่อนคงไม่ดีแน่ เพราะถ้าไปถึงแล้วหากต้องต่อคิวยาวเป็นหางว่าว ไหนจะกรอกเอกสาร ไหนจะได้ยื่นคำร้อง ก็ต้องใช้เวลาอยู่นานพอควร แถมยังไม่ทราบกำหนดเวลาที่แน่ชัดด้วยว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ถ้าจะรีบไปทำธุระอย่างอื่นต่อก็คงต้องรอไปก่อน
**สำหรับการทำพาสปอร์ตให้กับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์)** ในกรณีหากผู้ที่ยื่นเรื่องขอทำหนังสือเดินทางเป็นเยาวชนอายุตั้งแต่ 15 ขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ นอกจากจะต้องมาติดต่อด้วยตนเองพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ยื่นขอแล้ว ยังต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาด้วย แต่ถ้าในกรณีที่เป็นเด็กอายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ก็ให้ใช้สูติบัตรตัวจริงเป็นหลักฐาน และจำเป็นที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะต้องมาลงนามให้ความยินยอมด้วยทุกครั้ง ซึ่งถ้าหากไม่สามารถมาลงนามพร้อมกันได้ จะต้องมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง มาร่วมยื่นเรื่องขอทำหนังสือเดินทางพร้อมกับเด็ก ส่วนฝ่ายที่ไม่ได้มาให้ทำหนังสือยินยอมตามแบบฟอร์มที่กำหนด
ในสถานการณ์เช่นนี้ เรามีช่องทางลัดที่จะมาช่วยให้คุณ สามารถยื่นเรื่องขอทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น! เพียงคุณเลือกใช้บริการ “จองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์” ที่ทางกองหนังสือเดินทางกรมการกงศุลจัดทำขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในวันนี้ DPlus Guide จะมาสอนขั้นตอนการจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์ทีละขั้นตอนแบบ Step by Step ให้ดูกัน ตามมาเลยครับ ^^
จองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์
โดยก่อนที่จะใช้บริการจองคิวในครั้งแรก คุณจะต้องไปลงทะเบียนขอรับบริการหนังสือเดินทางล่วงหน้า หรือพูดง่ายๆก็คือ คุณต้องไปลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกกับเค้าเสียก่อน แล้วถึงจะนำเอาอีเมล (E-mail) กับพาสเวิร์ดที่ได้ลงทะเบียนไว้ ไปใช้บริการจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์ได้
ซึ่งการจองคิวในลักษณะนี้ ก็จะคล้ายๆกับการจองตั๋วรถทัวร์หรือรถไฟผ่านอินเตอร์เน็ตนั่นแหละ โดยจะมีข้อดีคือ ช่วยให้คุณสามารถกำหนด วัน เวลา และสถานที่ ที่ต้องการเข้ารับบริการทำพาสปอร์ตได้อย่างชัดเจน โดยที่คุณไม่ต้องมาคอยกังวลว่าถ้าไปถึงแล้วหากมีคนมาใช้บริการเยอะ จะต้องรอคิวไปอีกนานแค่ไหนแล้วจะเสร็จเมื่อไหร่
นอกจากบริการจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแล้ว ยังมีบริการอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังคิดจะเดินทางไปยื่นเรื่องขอทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตอีกด้วย อาทิ แสดงสถิติการทำหนังสือเดินทางย้อนหลัง 5 วัน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกวันที่จะมาใช้บริการ และแสดงจำนวนคิว ณ เวลาปัจจุบันของแต่ละสาขาที่ให้บริการ เป็นต้น ส่วนที่ยังเป็นข้อด้อยอยู่ในตอนนี้ก็คือ ระบบจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์ ปัจจุบันเปิดให้บริการได้เฉพาะแค่ 5 สาขาคือ กรมการกงศุล (ถนนแจ้งวัฒนะ), ศรีนครินทร์ (ธัญญาพาร์ค), ปิ่นเกล้า, เมืองพัทยา และสาขาที่เปิดใหม่ล่าสุด สาขา MRT คลองเตย เท่านั้น
เงื่อนไขของการลงทะเบียนล่วงหน้า
เห็นคุณประโยชน์ของช่องทางลัดที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับการทำพาสปอร์ตแบบนี้แล้ว ใช่ว่าใครอยากจะทำก็ทำได้ทุกคนนะครับ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขของการลงทะเบียนล่วงหน้าตามที่เค้าระบุมาด้วย นั่นคือ
– การลงทะเบียนล่วงหน้าใช้สำหรับการยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางธรรมดาเท่านั้น
– สมัครสมาชิก 1 บัญชี ต่อ 1 ท่าน ต่อ 1 รายการจอง
สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ 1 วันทำการ (ไม่นับวันที่ทำรายการ วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) และทำรายการล่วงหน้าได้ไม่เกิน 5 วันทำการ
– คุณต้องมารายงานตัวและแสดง QR Code ต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ท่านลงทะเบียนขอรับบริการไว้อย่างน้อย 30 นาที ก่อนเวลาขอรับบริการ มิฉะนั้นการลงทะเบียนของท่านจะถูกยกเลิก และไม่สามารถใช้บริการลงทะเบียนล่วงหน้าได้อีกภายใน 30 วัน
– ข้อมูลที่กรอกต้องเป็นข้อมูลปัจจุบันของตนเองและเป็นข้อมูลจริงเท่านั้น
– เตรียมเอกสาร-หลักฐานต่างๆให้ครบถ้วนตามที่กำหนด มิฉะนั้นอาจถูกปฏิเสธการยื่นคำร้อง
ขั้นตอนการลงทะเบียนขอรับบริการหนังสือเดินทางล่วงหน้า
หลังจากทราบเงื่อนไขต่างๆแล้ว ทีนี้เรามาดูขั้นตอนของการลงทะเบียนขอรับบริการหนังสือเดินทางล่วงหน้า เพื่อนำไปใช้จองคิวทำพาสปอร์ตแบบออนไลน์กันดีกว่า
1. เริ่มจากเข้าไปที่เว็บไซต์ www.passport.in.th แล้วเข้าสู่ระบบ จากนั้นเลือก ลงทะเบียนทำ Passport
2. เลือก สมัครสมาชิกใหม่ (หรือเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็วด้วยบัญชี Facebook หรือ Google (Gmail) ที่มีอยู่แล้ว)
3. กรอกข้อมูลสมัครสมาชิกให้ครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามความเป็นจริง เนื่องจากอาจมีข้อมูลบางส่วนถูกนำไปใช้ในเอกสารยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต เสร็จแล้วเลือก ลงทะเบียนใช้บริการ
4. การลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ให้เราไปที่อีเมลตามที่ได้กรอกข้อมูลลงทะเบียนไว้ แล้วคลิกลิงค์จากอีเมลที่ได้รับ เพื่อยืนยันการเข้าใช้งานระบบในครั้งแรก
5. เลือกรูปเพื่อพิสูจน์ตัวตน เสร็จแล้วเลือก ยืนยัน
ขั้นตอนการจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์
หลังลงทะเบียนเสร็จ ก็ถึงคราวที่เราจะมาจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าออนไลน์กันซะที
1. เริ่มต้นด้วยหน้าต่างดังรูป เลือก Login ด้วยบัญชีที่มีอยู่แล้ว (หรือเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็วด้วยบัญชี Facebook หรือ Google ที่มีอยู่แล้ว)
2. กรอกอีเมลและรหัสผ่านของเรา เลือก Sign in
3. อ่านเงื่อนไขการให้บริการ เสร็จแล้วเลือก ☑ เพื่อยอมรับข้อกำหนด แล้วเลือก ตกลง
4. เลือก จอง สาขาที่เราสะดวกจะไปทำพาสปอร์ตในช่วงวันดังกล่าว โดยสามารถตรวจสอบจำนวนคิวที่ว่างอยู่ (คิวที่เหลือ) ระยะทาง และเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปในแต่ละสาขาจากตำแหน่งที่คุณอยู่ได้ทันที
5. เลือก ทำการจอง ในวันที่เราต้องการ (สามารถจองล่วงหน้าได้ไม่เกิน 5 วัน) โดยสามารถตรวจสอบจำนวนคิวที่ว่างในแต่ละวันได้ทันที เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกวันที่จะไป
6. เลือกช่วงเวลาที่คุณต้องการเข้ารับบริการและมีคิวว่างเหลืออยู่ (อย่าลืมว่า! คุณต้องเดินทางไปถึงก่อนช่วงเวลาที่คุณเลือกนี้ 30 นาที แล้วเมื่อไปถึงสามารถแจ้งที่เคาเตอร์ Q-Online เพื่อยื่นบัตรประชาชนและรอรับบัตรคิวได้เลย)
7. เลือกวิธีการรับเล่มหนังสือเดินทาง ซึ่งถ้าเป็นการจัดส่งทางไปรษณีย์จะมีค่าจัดส่งด้วย โดยค่าใช้จ่ายต่างๆจะต้องนำไปชำระในวันที่ไปยื่นคำร้อง
8. หากเลือก จัดส่งทางไปรษณีย์ ให้เรากรอกข้อมูลสำหรับการจัดส่ง และบุคคลที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน เสร็จแล้วเลือก ทำรายการต่อ
9. ตรวจสอบข้อมูลต่างๆโดยละเอียดว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว เลือก บันทึกข้อมูลการจอง
10. จากนั้นคุณจะได้รับ QR Code ที่จะต้องนำไปแสดงให้กับเจ้าหน้าที่ในวันที่ไปทำหนังสือเดินทาง ซึ่งจะระบุข้อมูลการจองพร้อมรายละเอียดต่างๆเอาไว้ สามารถพิมพ์หรือแคปเจอร์ (capture) หน้าจอเก็บไว้ได้เลย โดยหลังจากนี้คุณสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลการจองก่อนไปทำหนังสือเดินทางได้เพียง 5 ครั้งเท่านั้น เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นการลงทะเบียนและการจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์
ขั้นตอนการไปทำพาสปอร์ตหลังจากจองคิวล่วงหน้าแบบออนไลน์เอาไว้แล้ว
หลังจากจองคิวทำพาสปอร์ตล่วงหน้าแบบออนไลน์มาจากที่บ้านแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเดินทางไปทำพาสปอร์ตกันจริงๆ ณ ที่ทำการสาขาที่ให้บริการซะที
หลังจากตรวจสอบ วัน เวลา และสถานที่ที่จะไปใช้บริการทำพาสปอร์ตจนแน่ใจ ให้เรานำเอกสารทั้งบัตรประจำตัวประชาชน, QR Code และพาสปอร์ตเล่มเก่า (ถ้ามี) ติดตัวไปด้วย (ย้ำว่า!!! ควรเดินทางไปถึงก่อนเวลาที่ระบุไว้ในข้อมูลการจอง 30 นาที เช่น จองคิวไว้เวลา 10:15 น. – 10:30 น. ก็ควรมาถึงก่อนเวลา 9:45 น. เป็นต้น)
1. เมื่อเดินทางไปถึง ณ ที่ทำการสาขาที่ให้บริการ ก่อนเวลาที่จองคิวไว้ 30 นาที (ในที่นี้ผมเลือกไปใช้บริการที่กรมการกงศุล แจ้งวัฒนะ เพราะอยู่ใกล้บ้านและเดินทางสะดวก) ก็ให้ตรงไปที่จุดลงทะเบียน Q-Online สำหรับผู้ที่จองคิวออนไลน์เอาไว้ แล้วรอให้เจ้าหน้าที่แจ้งรอบคิวตามเวลาที่จอง
2. เมื่อถึงคิวตามเวลาที่จอง (ในที่นี้คือ 10:15 น. – 10:30 น.) หรือมาถึงก่อนเวลา 30 นาที (ในที่นี้คือ 9:45 น.) ให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่แล้วยื่นบัตรประจำตัวประชาชน และตรวจสอบเอกสาร พร้อมรับบัตรคิว (จริงๆแล้วมาถึงตรงนี้ใครที่ไม่มี QR Code มาด้วยก็ไม่เป็นไรนะครับ ใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนนี่แหละ แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ อ้าว…ซะงั้น!)
3. เมื่อถึงคิวตามหมายเลข ให้เดินไปยังจุดวัดส่วนสูงพร้อมกับยื่นเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งหมายเลขบูธเพื่อให้เราเดินเข้าไปรับบริการ
4. เจ้าหน้าที่ในบูธจะเอาเอกสารให้เราตรวจสอบความถูกต้องและลงชื่อในคำร้อง พร้อมกับบันทึกข้อมูลชีวภาพ เช่น พิมพ์ลายนิ้วมือทั้งซ้าย-ขวา และถ่ายภาพ (มีตัวอย่างภาพที่ถ่ายให้ดู และภาพที่นำไปใช้ในเล่มจะเป็นขาว-ดำ) และถ้าหากเรามีพาสปอร์ตเล่มเก่ามาด้วยก็ให้ยื่นกับเจ้าหน้าที่ตรงนี้ได้เลยเพื่อยกเลิกซะ เสร็จแล้วเราจะได้รับใบชำระเงินเพื่อนำไปชำระเงิน
5. นำใบชำระเงินที่ได้ไปชำระเงินเป็นค่าธรรมเนียมการออกหนังสือเดินทาง จำนวน 1,000 บาท และค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ (ถ้ามี) จำนวน 40 บาท สำหรับไปรษณีย์ธรรมดา (ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน) หรือ 60 บาท สำหรับไปรษณีย์ด่วนพิเศษ EMS (เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ใช้เวลาประมาณ 2 วัน นอกเขตอาจใช้เวลามากกว่า 2 วัน) (ในกรณีนี้ผมเลือกที่จะรอรับไปรษณีย์ด่วนพิเศษ EMS อยู่ที่บ้าน)
6. เสร็จแล้วเราจะได้รับใบเสร็จรับเงินของทั้งค่าธรรมเนียม และค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ (ถ้ามี) เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ผ่านช่องทางการจองคิวล่วงหน้าแบบออนไลน์ หลังจากนี้ก็กลับไปบ้านแล้วนอนรอให้ไปรษณีย์ไปส่งหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตให้ถึงหน้าบ้านคุณ
อยากจะบอกว่าวิธีนี้ผมใช้เวลาไปเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น ตั้งแต่ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมรับบัตรคิวที่จุดลงทะเบียน Q-Online จนถึงได้รับใบเสร็จรับเงิน แค่ 10 นาที!!! จริงๆครับแค่ 10 นาที นี่ขนาดไปเดินหลงๆ หาช่องทางไม่ถูกก่อนจะไปชำระเงินค่าธรรมเนียม และค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ ก็ยังใช้เวลาไปแค่นี้จริงๆ เจ๋งมากๆขอบอก ทีนี้มีธุระอะไรจะไปไหนหลังเวลา 10:15 น. – 10:30 น. ที่ผมจองคิวไว้ก็สบายหายห่วง ดีแบบนี้ก็อดที่จะมาแนะนำบอกกล่าวกันไม่ได้อ่ะนะครับ ท่านผู้ชมมมมม.ม..ม.ม!
เรื่องและภาพ: Superman DPlus Guide Team