รถไฟด่วนสาย N'EX หรือ Narita Express

บทความนี้จะรวมสารพัดวิธีเดินทางจากสนามบินนาริตะเข้าเมืองโตเกียว ทั้งรถด่วน รถไฟ และรถบัส และวิธีซื้อตั๋วที่มีหลากหลาย แถมบางทีก็พ่วงตั๋วรถไฟใต้ดินเข้ามาด้วย เล่นเอาคนเดินทางงงไปหมด แต่ที่จริงแล้วมันไม่ได้ยุ่งขนาดนั้น (แค่มีทางเลือกเยอะไปหน่อย ^_^) ลองมาดูกันนะครับ แต่อย่างแรกเลยต้องรู้จักสนามบินก่อน

การเดินทางจากเมืองไทยไปโตเกียว จะลงที่สนามบินนานาชาติหนึ่งในสองแห่งคือ  สนามบินนาริตะ (Narita International Airport) เป็นสนามบินนานาชาติที่สร้างขึ้นใหม่หลัง สนามบินฮะเนะดะ (Haneda) ที่เดิมให้บริการแต่ในประเทศ เทียบกับบ้านเรานาริตะก็เหมือนสุวรรณภูมิ ในขณะที่ฮะเนะดะเหมือนดอนเมือง ส่วนที่เหมือนกันอีกอย่างคือ นาริตะอยู่ห่างโตเกียวออกมาทางตะวันออกราว 60 กม. เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดติดกันคือจิบะ (Chiba) ในขณะที่ฮะเนะดะอยู่ชานเมืองโตเกียวทางใต้เลย (ใกล้กว่าเยอะ) แต่ว่าเดิมมีเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศ เพิ่งจะสร้างอาคารผู้โดยสารต่างประเทศและเปิดบริการเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง

สนามบินนาริตะ (ภาพจาก Wikipedia)
สนามบินนาริตะ (ภาพจาก Wikipedia)

ยกตัวอย่างสายการบินยอดนิยมสำหรับคนเที่ยวญี่ปุ่น สายการบินราคาประหยัดอย่าง Thai AirAsia X จะลงที่นาริตะเป็นหลัก ส่วน การบินไทย จะมีให้เลือกเที่ยวบินที่ลงทั้งสองสนามบิน

สนามบินนาริตะปัจจุบันมี 3 เทอร์มินัล ถ้าเป็นรถบัสก็จะมีป้ายจอดครบทั้ง 3 เทอร์มินัล แต่ถ้าเป็นรถไฟจะมีสถานีและรางไปถึงแค่เทอร์มินัล 1 และ 2 เท่านั้น ใครจะไปเทอร์มินัล 3 จะต้องไปที่เทอร์มินัล 2 ก่อนแล้วค่อยต่อไป 3 โดยเดินตามทางเชื่อมหรือนั่งรถชัตเติลบัส (ฟรี) ต่ออีกประมาณ 15 นาที ดังนั้นจึงต้องเผื่อเวลาไว้มากกว่าเทอร์มินัลอื่นนิดหน่อย

จากสนามบินนาริตะเข้าเมืองโตเกียว

การเดินทางจากสนามบินนาริตะเข้าเมืองโตเกียว หรือไปยังเมืองรอบๆ เช่น จิบะ (Chiba), โยโกฮามะ (Yokohama), คาวาซากิ (Kawasaki) ฯลฯ ทำได้หลายวิธี ซึ่งหลักๆ คือ

รถไฟสายต่างๆ จากสนามบินนาริตะเข้าเมืองโตเกียว
รถไฟสายต่างๆ จากสนามบินนาริตะเข้าเมืองโตเกียว

รถไฟด่วน Narita Express (N’EX)

เส้นทางรถไฟสาย Narita Express บนแผนที่จริง
เส้นทางรถไฟสาย Narita Express บนแผนที่จริง

รถไฟด่วน Narita Express (N’EX) เป็นของบริษัท JR (คือการรถไฟญี่ปุ่นที่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแล้วนั่นเอง) จากสนามบินเข้าเมืองโดยจะไปพบกับรถไฟ (บนดิน) รอบเมืองสายวงแหวนหรือ Yamanote Line ที่ สถานี Tokyo (ตอนกลางทางตะวันออกของเมืองโตเกียว) และมีวิ่งต่อไปถึงสถานี Shibuya กับ Shinjuku อีกฟากหนึ่งคือทางตะวันตกของเมืองโดยไม่ต้องต่อรถ

วิธีนี้แนะนำสำหรับคนที่จะเข้าใจกลางเมืองโตเกียวที่อยู่ใกล้หรือต่อรถไฟสายามาโนเตะไปได้ เพราะรถไฟ N’EX จะวิ่งรอบเมืองอ้อมไปให้เลยโดยไม่ต้องต่อรถอีกไกลนัก และสำหรับคนที่ซื้อตั๋ว JR Pass แล้วมีวันที่ใช้ได้เหลือ ไม่ว่าจะเป็นวันไปหรือวันกลับก็ตาม ต้องเลือกนั่ง N’EX เลยเพราะใช้ได้ฟรี

รถไฟเอกชนสาย Keisei Skyliner และอื่นๆ

รถไฟ Keisei ทั้งสามแบบคือ Skyliner, Access Express และ Keisei Main Line
รถไฟ Keisei ทั้งสามแบบคือ Skyliner, Access Express และ Keisei Main Line

รถไฟเอกชนสาย Keisei Skyliner และอื่นๆ มีสองเส้นด้วยกัน เส้นหนึ่งวิ่งไปทางเหนือของโตเกียว เชื่อมต่อกับสายวงแหวน Yamanote ที่ สถานี Nippori และ สถานี Ueno หรืออีกเส้นแยกวิ่งผ่านด้านตะวันออกของโตเกียวแถบ Tokyo Skytree (สถานี Oshiage ไล่ไปจนถึง Higashi Ginza – รายละเอียดดูชื่อสถานีในรูป) แล้วลงทางใต้จนไปเชื่อมต่อกับสาย Yamanote ที่ สถานี Shimbashi และ สถานี Shinakawa จากนั้นสายนี้จะวิ่งต่อไปจนถึง สนามบินฮะเนะดะ (Haneda Airport) ด้วย วิธีนี้แนะนำสำหรับคนที่จะไปพักแถวทางเหนือ ตะวันออก หรือทางใต้ของโตเกียว หรือจะไปต่อเที่ยวบินภายในประเทศที่สนามบินฮะเนะดะ

รถไฟธรรมดาของ JR (Local Train)

รถไฟธรรมดาของ JR (Local Train) รถไฟแบบนี้จะวิ่งตามเส้นทางรถไฟสาย Narita และ Sobu Line เช่นเดียวกับ N’EX โดยผ่านและแวะจอดที่ตัวจังหวัด Chiba ด้วย แต่โดยรวมจะช้าและจอดบ่อยกว่า N’EX มาก (ประมาณ 85 นาทีถึงสถานี Tokyo) ไม่แนะนำให้ใช้เข้าเมืองโตเกียว เหมาะกับกรณีจะไปพักแถวจังหวัด Chiba หรือใกล้เคียง เช่น Disney Resort มากกว่า

รถบัส

Tokyo Airport Limousine Bus
Tokyo Airport Limousine Bus – ภาพจาก Wikipedia

รถบัสที่วิ่งระหว่างสนามบินนาริตะกับเมืองโตเกียวและรอบๆ มีผู็ให้บริการหลายเจ้า เช่น Airport Limousine Bus, Keisei Bus (คือบริษัทที่ทำรถไฟไปสนามบินด้วยนั่นเอง), Access Narita เป็นต้น บริการหลักๆ ก็ใกล้เคียงกัน คือเป็นรถบัสปรับอากาศแบบนั่งสบาย มีที่เก็บกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ใต้ท้องรถ มีให้เลือกใช่้หลายสาย วิ่งจากสนามบินนาริตะตรงถึงแต่ละโซนในโตเกียวและรอบๆ โดยมักจอดตามจุดที่มีโรงแรมใหญ่ๆ 5-6 ป้ายต่อสาย ใช้เวลาประมาณ 1 -2 ชั่วโมง หรือช้ากว่านั้นแล้วแต่ระยะทางที่จะไปและสภาพการจราจร ค่าโดยสารแต่ละสายอาจแตกต่างกันไปตามระยะทาง

เห็นภาพรวมย่อๆ กันแล้ว สำหรับใครที่อยากรู้รายละเอียดการเดินทางแต่ละวิธี ก็ตามมาอ่านกันได้ ดังนี้

1. รถไฟด่วน N’EX (Narita Express)

ออกจาก Terminal 1 แวะ Terminal 2 (Thai AirAsia X ลง Terminal 2 ส่วนการบินไทยลง Terminal 1) ใช้เวลาประมาณ 55 นาทีถึงสถานีโตเกียว (JR Tokyo) โดยสถานีรถไฟจะอยู่ชั้น B1 ทั้งสองเทอร์มินัล

รายละเอียดและตารางเวลาดูที่ www.jreast.co.jp/e/nex/

เส้นทางทั้งหมดของ Narita Express (N'EX) แต่ไม่รวมที่วิ่งไป Kawaguchiko
เส้นทางทั้งหมดของ Narita Express (N’EX) แต่ไม่รวมที่วิ่งไป Kawaguchiko

ข้อดี

  • ใช้ตั๋ว JR Pass ได้ โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่มเลย อันนี้เป็นข้อดีที่ชัดเจนสุด
  • รถออกบ่อย ชั่วโมงละประมาณ 2 ขบวน
  • มีที่วางกระเป๋าใบใหญ่ พร้อมที่ล็อคกันกระเป๋าไหลแบบใส่รหัสได้ ซึ่งจัดเตรียมไว้มากพอสมควร
  • ปกติ N’EX จะวิ่งจากสนามบินนาริตะเข้ามาถึงสถานีโตเกียว รวดเดียวโดยไม่แวะจอดเลยแล้ววิ่งวนตามสาย Yamanote รอบเมือง แวะสถานีใหญ่อย่าง Shibuya ไปจนถึงอีกฟากหนึ่งของเมืองอย่างสถานี Shinjuku ด้วย (ช่วงเช้าหรือเย็นอาจมีขบวนที่วิ่งต่อออกไปนอกเมืองทางใต้ผ่าน Yokohama จนถึง Ofuna หรือทางตะวันตกผ่าน Kichijoji จนถึง Takao ด้วย)
  • บางช่วงเช่นในหน้าร้อน บางขบวนอาจวิ่งเลยไปถึงแหล่งท่องเที่ยวอีกฝั่งหนึ่งของโตเกียว เช่น ทะเลสาบคาวากุจิโกะ (Lake Kawaguchi) ด้วย (โดยวิ่งต่อบนรางของรถไฟเอกชนสาย Fuji-Q เริ่มจาก Otsuki ไปถึงสถานี Kawaguchigo)
  • เป็นระบบต้องจองที่นั่งทุกที่ (จองได้ที่สถานี) จึงไม่ต้องห่วงเรื่องรถเต็ม ต้องยืนฯลฯ

ข้อเสีย

  • ไม่มีโปรโมชั่นราคาพิเศษเมื่อซื้อร่วมกับตั๋วรถไฟอื่นๆ เช่น ตั๋วรถใต้ดิน (Tokyo Metro) เหมือนตั๋วรถไฟ Keisei
  • ราคาค่อนข้างสูงเทียบกับรถไฟธรรมดา เช่น สนามบินนาริตะ-โตเกียว เที่ยวเดียว ค่าโดยสารประมาณ 3,200 เยน (แต่ถ้าเลือกใช้ทั้งขาไปและกลับ จะมีโปรโมชั่นลดเหลือแค่ 4,000 เยนเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าตั๋วไปกลับของรถไฟ Keisei Skyliner อีก)

2. รถไฟเอกชนสายเคเซ (Keisei)

รถไฟเอกชนสายเคเซ (Keisei) เป็นของบริษัทเอกชน จริงๆ มีรถไฟหลายสาย โดยจะวิ่งบนรางของตัวเองต่างหาก (หรือบางทีก็ตกลงใช้รางร่วมกับรถไฟ JR หรือบริษัทรถไฟเอกชนรายอื่นๆ เป็นบางช่วง) สถานีก็แยกต่างหาก แต่บางทีก็อยู่ใกล้หรือติดกับของ JR เลย จึงต้องตั้งชื่อให้แตกต่างโดยเติม Keisei- นำหน้าเข้าไป เช่น Keisei-Narita อยู่ติดกับสถานี (JR) Narita ระยะประมาณ 100 ม. เดินถึงกันได้เลย เป็นต้น ส่วนที่สนามบินนั้นสถานีรถไฟ Keisei กับ JR จะอยู่ติดกันเลยคือที่ชั้น B1 ของทั้งสองเทอร์มินัล

รายละเอียดและตารางเวลาดูที่ www.keisei.co.jp/keisei/tetudou/skyliner/us/

สำหรับรถไฟที่วิ่งไป-กลับสนามบินนาริตะกับโตเกียวของบริษัท Keisei นี้จะมีหลายแบบคือ

2.1 Keisei Skyliner

เส้นทางรถไฟสาย Keisei Skyliner
เส้นทางรถไฟสาย Keisei Skyliner

Keisei Skyliner เป็นรถไฟที่คุยว่าเร็วที่สุดถ้าไม่นับ Shinkansen คือเร็วถึง 160 กม./ชม. วิ่งระหว่าง Terminal 1 และ 2 สนามบินนาริตะมาที่สถานี Nippori บนวงแหวนสาย Yamanote ทางเหนือของโตเกียว ใช้เวลาเพียง 36 นาที (ไม่แวะจอดระหว่างทาง) และต่อมาสุดสายที่สถานี Ueno ใช้เวลาเพิ่มอีก 5 นาที รวมเป็น 41 นาทีเท่านั้น ซึ่งมีข้อควรทราบดังนี้

  • ค่าโดยสารแบบเที่ยวเดียวถูกกว่า Narita Express (N’EX) ของ JR คือประมาณ 2,470 เยน (ถึงสถานี Ueno) และเร็วกว่า (แต่ใช้ JR Pass ไม่ได้)
  • ส่วนลดค่าโดยสาร มีหลายกรณีคือ
    • ค่าโดยสารเที่ยวเดียวกับไปกลับไม่มีส่วนลด แต่หากใช้บัตรเติมเงิน (IC Card) เช่น Suica หรือ Pasmo จะถูกลงไปอีกนิดหน่อยเที่ยวละ 3-5 เยน
    • แต่หากซื้อรวมกับตั๋วรถไฟใต้ดิน Tokyo Subway Pass แบบ 24, 48 หรือ 72 ชั่วโมง (ราคาเต็ม 800, 1,200 และ 1,500 เยนตามลำดับ ใช้กับรถไฟใต้ดินในเขตโตเกียวทั้งของ Tokyo Metro และ Toei รวม 13 สาย) จะมีส่วนลดตามรูป ซึ่งจะซื้อดีหรือไม่ก็ขึ้นกับแผนการเดินทางของคุณละครับว่าจะวนๆ อยู่ในโตเกียวหรือออกไปเที่ยวข้างนอกกี่วัน ถ้าวนๆ อยู่ในเมืองก็น่าจะจำเป็นต้องใช้รถใต้ดิน ซื้อเลยก็น่าจะดี วันนึงนั่งสัก 2-3 ครั้งในระยะทางไกลหน่อยก็คุ้มแล้ว (ซึ่งตั๋ว Tokyo Subway Pass ราคานี้ต้องซื้อมาจากสนามบิน มาหาซื้อในเมืองจะยากและแพงกว่า คือเริ่มที่ 24 ชั่วโมง 1,000 เยน) กรณีซื้อรวมกับตั๋ว Skyliner จะสามารถซื้อผ่านเว็บได้ที่
      www.keisei.co.jp/keisei/tetudou/skyliner/e-ticket/en/ เลือก Keisei Skyliner & Tokyo Subwey Ticket
ราคาตั๋ว Keisei Skyliner พร้อม Tokyo Metro แบบ 24 ชั่วโมง, 48 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง
ราคาตั๋ว Keisei Skyliner พร้อม Tokyo Metro แบบ 24 ชั่วโมง, 48 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง
  • นอกจากนี้ยังมีส่วนลดสำหรับกรณีซื้อตั๋วล่วงหน้าเช่น ออนไลน์ผ่านเว็บ (e-ticket ที่ www.keisei.co.jp/keisei/tetudou/skyliner/e-ticket/en/ เช่นเดียวกันเลือก Skyliner Discount Ticket) ผ่านเอเย่นต์ (ในเมืองไทยคือ H.I.S.) หรือซื้อบนเที่ยวบินที่ไปญี่ปุ่นเลย (ส่วนมากเป็น Low-cost Airline เช่น Thai AirAsia X) ตามรูป
ราคาตั๋ว Keisei SKyliner แบบซื้อล่วงหน้าแล้วมีส่วนลด
ราคาตั๋ว Keisei SKyliner แบบซื้อล่วงหน้าแล้วมีส่วนลด
  • มีที่วางกระเป๋าขนาดใหญ่ ที่นั่งสบายกว้างขวาง หันหน้าไปทางเดียวกันคือหัวขบวน
  • ถ้าจะเดินทางต่อไปที่อื่น ต้องไปต่อรถไฟ JR ที่สถานี Nippori หรือ Ueno บนสายวงแหวน Yamanote (ส่วนนี้ใช้ JR Pass ได้ หรือจ่ายเองก็ไม่แพง แต่อาจต้องลากกระเป๋าบ้าง)

2.2 Keisei Narita Sky Access Express

เส้นทางรถไฟสาย Keisei Access Express มีแยกไปทั้งเหนือและใต้ของโตเกียว
เส้นทางรถไฟสาย Keisei Access Express มีแยกไปทั้งทางเหนือและทางใต้ของกรุงโตเกียว

Keisei Narita Sky Access Express วิ่งเส้นทางเดียวกับ Skyliner แต่มีแยกเป็นสองทางคือ สายที่ไป Nippori / Ueno (ทางเหนือของโตเกียว) กับสายแยกที่ไป Simbashi / Shinagawa / สนามบิน Haneda (ทางใต้ของโตเกียว) ซึ่งระหว่างทางจะผ่านสถานี Oshiage (Tokyo Skytree) และ Higashi-Ginza (ทางตะวันออกของย่านกินซ่า) ด้วย (ใช้รางของรถไฟสายอื่น)

  • กรณีไป Nippori / Ueno ใช้เวลาพอๆ กับ Skyliner (แต่นั่งไม่สบายเท่า เพราะที่นั่งเป็นแบบรถไฟใต้ดิน คือสองฝั่งหันหน้าหากัน และไม่มีที่วางกระเป๋า)
  • มีขบวนที่แยกวิ่งลงไปยังสนามบินฮะเนะดะ (Haneda) ชานเมืองโตเกียวทางใต้ด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ต่อรถน้อยที่สุดในการเดินทางระหว่างสองสนามบิน (แต่อาจใช้เวลาไม่แตกต่างจากเส้นทางอื่นมากนัก)
  • ค่าโดยสารถูกกว่า Keisei Skyliner เกือบครึ่ง คือจากนาริตะถึงสถานี Nippori และ Ueno แค่ 1,240 เยนเท่านั้น ส่วนถ้าไปทางตอนใต้ของโตเกียว ถึงสถานี Shinagawa และสนามบินฮะเนะดะก็แค่ 1,520 เยนเท่านั้น

2.3 Keisei Main Line

เส้นทางรถไฟสาย Keisei Main Line ราคาประหยัดที่สุด
เส้นทางรถไฟสาย Keisei Main Line ราคาประหยัดที่สุด

Keisei Main Line คือรถไฟธรรมดาของสาย Keisei วิ่งเส้นทางใกล้เคียงกับ Access Express ที่ไป Nippori และ Ueno ทางเหนือของโตเกียว แต่คนละรางกันจึงวิ่งได้ช้ากว่าเยอะ และมีแยกไปทางตอนใต้คือ Shimbashi, Shinagawa และสนามบินฮะเนเดะเช่นเดียวกัน (ใช้รางของรถไฟสายอื่น)

  • จอดค่อนข้างถี่ (15 สถานี) และใช้เวลานาน (73 นาทีถึง Nippori และ 78 นาทีถึง Ueno)
  • ค่าโดยสารถูกกว่า Access Express ลงไปอีกประมาณ 200 เยน คือไป Ueno ทางเหนือประมาณ 1,030 เยน และไป Shinagawa ทางใต้ 1,330 เยนเท่านั้น
  • ที่นั่งแบบรถไฟใต้ดิน คือสองฝั่งหันหน้าหากัน และไม่มีที่วางกระเป๋า

3. รถไฟ JR สาย Sobu/Narita Line 

รถไฟ JR สาย Sobu/Narita Line เป็นรถไฟธรรมดาที่วิ่งบนเส้นทางเดียวกับ N’EX แต่จอดบ่อย (16 ครั้ง) และวิ่งช้ากว่า (ใช้เวลาประมาณ 90 นาที รวมเวลารถจอดรอที่สถานี Chiba ประมาณ 2-4 นาที) ผ่านสถานี Tokyo และมุ่งหน้าไปทาง Chiba และ Yokohama จนไปสุดสายที่ Kurihama ทางใต้ของโตเกียว เป็นทางเลือกสำหรับคนที่จะไม่เข้าโตเกียวโดยตรง

  • ใช้ JR Pass ได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถึงไม่มี JR Pass ค่าโดยสารก็ยังถูกกว่า N’EX เกินครึ่ง คือประมาณ 1,300 เยน
  • ไม่มีการจองที่นั่ง ถ้ารถแน่นอาจต้องยืน
  • ไม่มีที่วางกระเป๋าเดินทางใหญ่ๆ
  • ไม่มีโปรโมชั่นราคาพิเศษเมื่อซื้อร่วมกับตั๋วรถไฟอื่นๆ เช่น ตั๋วรถใต้ดิน (Tokyo Metro)
  • รายละเอียดแต่ละสายและตารางเวลาดูได้จากเว็บ www.hyperdia.com เลือกสถานีต้นทาง Narita Airport Terminal 1 หรือ 2 และปลายทางเป็นสถานี Tokyo (หรือสถานีอื่นๆ ที่ต้องการ)

4. รถบัส

อย่างที่บอกไว้ตอนต้นแล้วว่าจากสนามบินนาริตะมีผู้ให้บริการหลายราย ซึ่งแต่ละรายก็มีตารางเวลา เส้นทาง และอัตราค่าโดยสารแตกต่างกันออกไป แต่ข้อดีข้อเสียของบัสโดยรวมก็คือ

  • มีเส้นทางหลากหลายครอบคลุมกว่ารถไฟ คือถ้าเลือกสายรถดีๆ โดยดูแผนที่ว่าที่พักของเราอยู่ย่านไหน และสายไหนใกล้เคียงที่สุดแล้ว การนั่งรถบัสไปลงป้ายให้ใกล้ที่พักที่สุดชนิดที่ว่าลงแล้วเดินนิดเดียวถึงเลยก็อาจเป็นไปได้ (ปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ได้)
  • สิ่งที่ค่อนข้างทำให้เสียเวลาที่สุดคือรถติด และการที่ต้องแวะรับส่งคนหลายๆ จุดหลายๆ ป้าย กว่าจะวิ่งตรงมาถึงสนามบิน หรือขาออกจากสนามบินไปถึงป้ายสุดท้ายได้ ซึ่งอาจเพิ่มเวลาไปอีกหลายสิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมง แล้วแต่จุดที่คุณจะขึ้นลงว่าเป็นป้ายแรกหรือป้ายหลังๆ
  • ข้อดีอย่างหนึ่งของรถบัสคือ เราไม่ต้องยกกระเป๋าขึ้นลงเหมือนรถไฟ เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยยกขึ้นลงให้ (แต่อย่าลืมว่ากระเป๋าที่มีของมีค่า สำคัญ หรือแตกหักได้ต้องถือติดตัวขึ้นไป ส่วนกระเป๋าใหญ่ที่โหลดใต้ท้องรถบัสก็คือใบเดียวกับที่จะโหลดขึ้นเครื่องบิน) และหากเลือกสายที่มีป้ายอยู่ใกล้โรงแรม ดีไม่ดีอาจจะเดินลากกระเป๋าใกล้กว่าเดินจากสถานีรถไฟหรือรถใต้ดินก็เป็นได้
  • การซื้อตั๋ว ขาไปจากสนามบิน ให้ซื้อที่เคาน์เตอร์ของรถบัสได้เลย ส่วนขากลับถ้าเป็นป้ายใหญ่มักจะมีเจ้าหน้าที่มารอตลอด ก็มาซื้อที่ป้ายได้เลย โดยอาจมาซื้อไว้ก่อนเวลาหลายๆ ชั่วโมงก็ได้เพื่อให่แน่ใจว่าเที่ยวที่ต้องการมีที่ว่างแน่ๆ ถึงตอนใกล้ๆเวลาแล้วค่อยมารอขึ้นรถอีกที แต่ถ้าเป็นป้ายเล็กหน้าโรงแรมบางแห่งอาจไม่มีเจ้าหน้าที่รถบัสประจำตลอด ก็สามารถสอบถามตารางเวลาและให้เจ้าหน้าที่โรงแรมนั้นๆ ช่วยจองที่นั่งให้ได้ แล้วค่อยซื้อตั๋วตอนขึ้นรถอีกที

รายละเอียดเพิ่มเติมว่ามีรถบัสสายไหน บริษัทไหน วิ่งไปไหนบ้าง และที่สำคัญคือขึ้นที่ป้ายเบอร์อะไรนั้น ดูได้ที่เว็บของสนามบินนาริตะ www.narita-airport.jp/en/access/bus/index.html ส่วนรายละเอียดของแต่ละบริษัทคร่าวๆ มีดังนี้

Airport Limousine Bus

แผนที่แสดงป้ายจอดรถจุดต่างๆ ของ Airport Limousine Bus สาย Shinjuku
แผนที่แสดงป้ายจอดรถจุดต่างๆ ของ Airport Limousine Bus สาย Shinjuku

รถบัส Airport Limousine เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่มีเส้นทางครอบคลุมพื้นที่หลักๆ ค่อนข้างมาก รถบัสสีส้มอย่างที่เห็นในรูปข้างบนนั่นก็คือของเจ้านี้ทั้งหมดแหละ มีรถวิ่งระหว่างสนามบินทั้งสองแห่งคือ Haneda และ Narita กับพื้นที่ครอบคลุมทั่วโตเกียว รวมถึงจุดสำคัญๆ รอบๆ เมือง เช่น Shinjuku, Shibuya, Yokohama, Tokyo Disney Resort, Ikebukuro เป็นต้น โดยแต่ละสายจะมีตารางเวลาและเที่ยวสุดท้ายไม่เท่ากัน โดยทั่วไปจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วแต่ระยะทางและสภาพการจราจร ส่วนค่าโดยสารมักจะอยู่ประมาณ 2,700 – 3,500 เยน

รายละเอียดแต่ละสายและตารางเวลาดูที่ www.limousinebus.co.jp/en/bus_services/narita/index หรือที่ www.limousinebus.co.jp/en > เลือก Narita Airport Routes

Keisei Bus Airport Express

Keisei Bus เป็นผู้ให้บริการบริษัทเดียวกับที่ทำรถไฟ Keisei นั่นเอง มีเส้นทางให้เลือกมากพอสมควร และครอบคลุมพื้นที่ทั่วโตเกียวรอบๆ ไปจนถึงแถบสวนสนุก Fuji-Q และทะเลสาบ Kawaguchiko รวมทั้งบริการ Tokyo Shuttle ที่วิ่งระหว่างสนามบินนาริตะกับสถานี  Tokyo และย่าน Ginza ด้วยในราคาประหยัดเพียง 1,000 เยนต่อเที่ยวเท่านั้น (ซื้อตั๋วล่วงหน้าลดเหลือ 900 เยนด้วย ส่วนตั๋วไปกลับ 1,900 เยน) โดยขาเข้าเมืองจากสนามบินนาริตะขึ้นที่ป้ายดังนี้

  • เทอร์มินัล 1 ขึ้นที่ป้ายเบอร์ 31
  • เทอร์มินัล 2 ขึ้นที่ป้ายเบอร์ 2 หรือ 19
  • เทอร์มินัล 3 ขึ้นที่ป้ายเบอร์ 1

ส่วนในเมืองที่สถานี Tokyo จะจอดที่ป้ายห่างจากทางออกฝั่งตะวันออก (Yaesu North exit) ของสถานีขึ้นไปประมาณ 200 เมตร (ดังรูป) ส่วนตารางเวลาและแผนที่ป้ายอื่นๆ ที่จอด ดูได้ที่เว็บ www.keiseibus.co.jp/en/kousoku/nrt16.html

ป้ายจอดรถ Tokyo Shuttle ของ Keisei Bus บริเวณทางออกฝั่ง Yaesu สถานีโตเกียว
ป้ายจอดรถ Tokyo Shuttle ของ Keisei Bus บริเวณทางออกฝั่ง Yaesu สถานีโตเกียว – ภาพจาก Keiseibus.co.jp

ล่าสุดมีตั๋วแบบที่ขายรวมกับ Tokyo Subway Pass ทั้งแบบ 24, 48 และ 72 ชั่วโมงด้วย (สังเกตว่าราคาไม่ต่างจากซื้อแยกมากนัก เช่นไม่ลดเลย หรือลดไปประมาณ 100-200 เยนเท่านั้น เพราะตั๋ว Subway ราคาปกติจะอยู่ที่ราคา 800, 1,200 และ 1,500 เยน ตามลำดับ) ดังนี้

ราคาเมื่อซื้อตั๋ว Keisei Bus เที่ยวเดียวหรือไปกลับ พร้อมกับ Tokyo Subway Ticket แบบ 24, 36 หรือ 72 ชั่วโมง
ราคาเมื่อซื้อตั๋ว Keisei Bus เที่ยวเดียวหรือไปกลับ พร้อมกับ Tokyo Subway Ticket แบบ 24, 36 หรือ 72 ชั่วโมง

ดููรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.keiseibus.co.jp/global/en/index.html

Access Narita

เป็นบริการร่วมของบริษัท Aska Bus กับ JR Bus Kanto โดยมีเส้นทางให้เลือกแค่ไม่กี่สายสายเท่านั้น ครอบคลุมพื้นที่ระหว่างสนามบินนาริตะ, โรงแรมโดยรอบ, สถานีรถใต้ดิน Ginza, สถานีรถไฟ JR Tokyo และห้าง Shinonome AEON (ย่านโอไดบะ) รายละเอียดอื่นเช่นเส้นทาง ตารางเวลา อัตราค่าโดยสาร ดูที่ http://accessnarita.jp/en

เรียกแท็กซี่เข้าเมืองได้มั้ย?

คำตอบคือ “ได้! แต่แพงนะ” เนื่องจากสนามบินนี้ไกลเมืองพอสมควร และค่าแท็กซี่ที่โตเกียวก็มหาโหด (เมื่อก่อนเริ่มต้นที่ 700 เยนหรือ 200 กว่าบาท เร็วนี้เห็นว่าทดลองลดราคาลงมาเหลือ 400 กว่าเยนเพื่อเตรียมรับโอลิมปิค 2020 แต่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเป็นราคาไหน) ดังนั้นขอเตือนว่าอย่าเผลอเรียกแท็กซี่เข้าเมืองเด็ดขาด นอกจากกรณีเร่งด่วนจริงๆ เพราะค่าแท็กซี่ไม่น่าจะหนีสองหมื่นเยน หรือคิดเป็นเงินไทยถึงหกเจ็ดพันบาทได้ง่ายๆ เก็บตังค์ไว้กินกับช้อปดีกว่ามั้ย :-)

ข้อมูล เรื่อง และภาพ: วศิน เพิ่มทรัพย์ DPlus Guide Team