เริ่มกันอย่างเป็นทางการกันแล้วกับงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ หรือ Bangkok Art Biennale 2018 (BAB 2018) ที่หลายๆ คนรอคอย ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยในอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นจุดหมายสำคัญที่ดึงดูดนักเดินทางที่ชื่นชอบงานศิลปะจากทั่วโลกให้มาสัมผัส ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงานในครั้งนี้คือ “Beyond bliss” หรือ “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” โดยรวบรวมผลงานศิลปะจากศิลปินชั้นนำของโลกกว่า 200 ชิ้น ประกอบไปด้วยศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก กว่า 75 ศิลปิน 33 ประเทศ ซึ่งจะจัดทุกๆ 2 ปี มาจัดแสดงงานศิลปะ กระจายตามแลนด์มาร์กสำคัญๆ ทั่วกรุงเทพมหานครกว่า 20 แห่ง อาทิเช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ วัน แบงค็อก โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล บ้านปาร์คนายเลิศ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร เป็นต้น
เพราะฉะนั้นใครที่เป็นแฟนคลับของศิลปินท่านไหน ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง อาทิเช่น ชเว จอง ฮวา (CHOI JEONG HWA) ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำชาวเกาหลี ผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัสดุทั่วไปในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงวัสดุรีไซเคิลต่างๆ มาประกอบเป็นผลงาน โดยผลงานในครั้งนี้ ชเว จอง ฮวา ได้จัดแสดงผลงานให้เราได้ชมกันหลายชิ้น โดยใช้ชื่อหลักๆ ว่า Happy Happy Project ที่แสดงถึงความสุขที่ฉาบฉวย และมีความขัดแย้งในตัวเอง เช่น ผลงานที่ใช้ชื่อว่า ‘Basket Tower’ 2018 ที่ชเว จอง ฮวา ใช้ตะกร้าพลาสติกสีสันสดใส เมดอินไทยแลนด์ โดยหาซื้อในย่านเยาวราช มาใช้ในการทำงานศิลปะในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ในครั้งนี้ และเอาตะกร้าพลาสติกหลากหลายสีสันเหล่านี้ มาห้อยต่อกันเป็นแนวสูง เรียกจุดสนใจให้ผู้ชมงานศิลปะในละแวกนั้นได้อย่างดี
คุณป้าโพลกาดอต ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในกระแสศิลปะแบบป็อปอาร์ต อย่างคุณป้ายาโยอิ คุซามะ (YAYOI KUSAMA) ศิลปินชาวญี่ปุ่นท่านนี้ เป็นผู้ที่มีผลงานทางด้านงานจิตรกรรม ประติมากรรม และงานศิลปะจัดวางที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ผลงานในครั้งนี้ คุณป้ายาโยอินำประติมากรรมฟักทองลายจุดมาจัดแสดงให้เราได้ให้เราชมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งฟักทองสีแดงลายจุดดำ ฟักทองสีเงินหลายจุดหลายสี และฟักทองสีขาวลายจุดแดง 14 ลูก โดยใช้ชื่อว่า ‘Pumpkin’ 2017 และ ‘I Carry on Living with the Pumpkins’ (red) 2016 และ ’14 Pumpkins’ 2017 ผลงานของคุณป้ายาโยอิ ถูกจัดแสดงไว้ 2 จุด คือที่ ศูนย์การค้าสยามพารากอนและเซ็นทรัลเวิลด์
นูเมน / ฟอร์ยูส (NUMEN FOR USE DESIGN COLLECTIVE) หรือกลุ่มศิลปินเและนักออกแบบชื่อดังชาวโครเอเชีย เจ้าของแนวคิดประติมากรรมขนาดใหญ่ ที่สร้างด้วยวัสดุขนาดเล็ก โดยผลงานในครั้งนี้พวกเค้าใช้ชื่อผลงานว่า ‘Tape Bangkok’ 2018 โดยจัดทำผลงานขึ้น เพื่อให้คนดูเข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์อันแปลกใหม่ ผู้ชมงานศิลปะสามารถเข้าไปเดินในชิ้นงานของเค้าได้ คล้ายการเดินเข้าไปในถ้ำรังไหมขนาดใหญ่ ชิ้นงานนี้ทำจากเทปกาวทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้โครงสร้างใดๆ เลย นำพันจนเป็นรังไหมขนาดมหึมา น่าทึ่งมากๆ
คุณตั้ม วิศุทธิ์ พรนิมิต ศิลปินนักวาดภาพการ์ตูน ชาวไทย เจ้าของผลงาน “น้องมะม่วง” ที่โด่งดัง ก็เป็นหนึ่งในศิลปินของงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ในครั้งนี้ด้วย โดยใช้ชื่อผลงานในครั้งนี้ว่า ‘Mamuang for BAB 2018’
คุณศรชัย พงษ์ศา ศิลปินชาวไทย เชื้อสายมอญ 1 ใน young artist ที่อายุน้อยที่สุด (อายุ 27 ปี) จัดแสดงผลงานของตนเองหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า ผลงานชิ้นนี้ว่า ‘Alien Capital’ 2018 หรือ ‘ผีในเมือง’ พ.ศ. 2561 ซึ่งคุณศรชัยหมายถึงแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานอยู่ในเมืองหลวง ผลงานทำจากไม้ไผ่มัดด้วยเชือกไนลอนสีแดง ห่อหุ้มตู้คอนเทนเนอร์ ภายในตกแต่งด้วยหิ้งบูชาต่างๆ และเอกสารของแรงงานต่างด้าว โดยเจ้าของผลงานกล่าวว่า คนมอญยังมีพฤติกรรมการไหว้ผี และจากจุดตรงนี้ เค้าจึงมองว่า ผีที่คนมอญนับถือ ไม่ต่างอะไรจากสถานะคนมอญในปัจจุบัน ที่เค้าปรับตัวเองให้อยู่ได้ ด้วยการเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งเชื่อมโยงกับประสบการณ์โดยตรงของเจ้าของผลงานในวัยเด็ก เค้าจึงอยากหยิบยกเรื่องบริบทของผี ที่เป็นเรื่องของความเชื่อมาประกอบผลงาน
หรือจะเป็น Pantea ศิลปินชาวอิหร่านท่านนี้ ที่ใช้ชื่อผลงานครั้งนี้ว่า “Circle” 2018 ศิลปินท่านนี้แสดงผลงานเป็นที่เรียกว่า การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบต่อเนื่อง (Long duration performances) โดยวิ่งไปข้างหน้าและถอยหลังอยู่ภายในเชือกแบ่งเส้นครึ่งวงกลมขนานกันสองเส้น ซึ่งมีวงกลมซ้อนกันสองวง วิ่งวนไปมาโดยไม่หยุด ซึ่งกล่าวถึง การต่อสู้ภายในระหว่างความรุนแรงและการทำร้ายความรู้สึกของมนุษย์นั้น ไม่มีการแบ่งแยกเพศ การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์นี้ เป็นการต่อสู้ไปมาระหว่างมาทาดอร์ (นักสู้วัวกระทิง) และวัวกระทิง ด้วยความเคลื่อนไหวและความเงียบ การพิสูจน์ความท้าทายแบบไร้เพศ ไม่เข้าข้างเพศหนึ่งเพศใด การไม่พูดถึงความรุนแรงในการแสดงสดที่ไม่มีเพศสภาวะนี้ โดยการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบต่อเนื่องของงานนี้ มีทั้งหมด 8 ศิลปินด้วยกัน ซึ่งทางงานไม่อนุญาตให้ถ่ายเป็นวิดีโอ ต้องถ่ายเป็นภาพนิ่งเท่านั้น ส่วนผลงานที่จัดแสดงตามห้างสรรพสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะแบบหมุนเวียน ต้องคอยเช็คตารางวัน และสถานที่ที่จัดแสดงอีกที
หลากหลายผลงานศิลปะในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ มีกิจกรรมให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก จึงต้องต่อแถวตามลำดับคิว และมีกิจกรรมบางส่วนที่ผู้ชมสามารถเข้าไปร่วมได้ แต่ต้องฝากของทั้งหมดไว้ในล็อกเกอร์ ไม่สามารถถ่ายรูปได้ และถ้าไปกันหลายคน หรือเป็นกลุ่ม อาจจะถูกแยกกันทำกิจกรรม และใครอยากได้รายละเอียดงานเกี่ยวกับศิลปะหรือศิลปินต่างๆ เพิ่มเติม นอกจากคำบรรยายที่กำกับไว้ข้างๆ ผลงานของศิลปินต่างๆ แล้วนั้น ยังสามารถหาซื้อหนังสือ BAB Guide Book ของงาน เล่มละ 100 บาท ได้ที่ห้องประชาสัมพันธ์ของงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ชั้น 1 หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของงาน เพื่ออัพเดตผลงานและตารางกิจกรรมต่างๆ กันได้
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ไม่ใช่แค่เทศกาลแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก เพื่อให้คนรักศิลปะทั่วโลกได้เดินทางมาสัมผัสอย่างใกล้ชิด ให้สมกับแนวคิดที่ว่า “Beyond bliss” หรือ “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต”
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale 2018) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้ชมงานศิลปะกันอย่างเต็มอิ่มตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน โดยจัดแสดงผลงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมากที่สุด ถึง 27 กลุ่มศิลปิน ผลงานที่จัดแสดงนั้น มีครบในทุกด้าน ทั้งภาพวาด งานประติมากรรม สื่อผสม การแสดงและภาพยนตร์ ใครสนใจงานศิลปะอาร์ตๆ เก๋ๆ แบบนี้ สามารถไปชมและเข้าร่วมกิจกรรมกันได้ งานศิลปะดีๆ แบบนี้ไม่ควรพลาดนะ ใครใกล้ที่ไหนไปชมกันได้ที่นั่น ที่สำคัญ ฟรีจ้า!!! ไปกัน
ติดตามข่าวสาร รายละเอียดต่างๆ และตารางกิจกรรมอัพเดตกันได้ที่ : BAB Guide Book (Application: BAB 2018)
[info-w] Website: www.bkkartbiennale.com / Facebook: www.facebook.com/Bkkartbiennale
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก บทความของศิลปินและ BAB Guide Book
เรื่องและภาพ : E’Pa พาเที่ยว