ต่อจากเรื่อง “เที่ยวสวิส ปราสาทกรุยแยร์ (Gruyeres) และโรงงานช็อคโกแล็ต Cailler (ตอน 1)”

ในตอนที่แล้ว เราได้นั่งรถไฟจากสถานี Broc-Fabrique ต้นทาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานช็อคโกแล็ต Callier ย้อนกลับมาทางเดิมผ่านเมือง Bulle ที่เป็นจุดตั้งต้น แล้วรถขบวนเดิมก็วิ่งแยกไปอีกทางสู่ปราสาทกรุยแยร์ แต่คราวนี้ไม่ได้ไปสุดสาย จึงต้องคอยดูป้ายและลงที่สถานี Gruyeres Gare ซึ่งจากตรงนั้นจะมีรถบัสสาย 263 ที่วิ่งระหว่างสถานีรถไฟและหมู่บ้านหน้าปราสาท คอยให้บริการ (ตั๋วสวิสพาสขึ้นฟรี) วิ่งไปส่งที่หน้าปราสาทเลย ระยะทางประมาณ 900 เมตร ใช้เวลาวิ่ง 9 นาที และมีแค่ราวๆ ชั่วโมงละ 1-2 คันอีกเช่นกัน ดังนั้นลงรถไฟแล้วก็ควรรีบเดินออกมารอรถที่ป้ายเลย

หรือถ้าไม่ทันและไม่อยากรอเที่ยวถัดไปก็พอจะเดินไปเองได้ ใช้เวลาราวๆ 20 นาที (จะเดินตามถนนสายหลักหรือทางลัดข้ามเนินที่สั้นแต่เดินยากกว่าก็ใช้เวลาพอๆ กัน)

หมายเหตุ : เวลารถบัสและรถไฟอาจเปลี่ยนแปลงได้ แนะนำให้ลงแอพ SBB Mobile ในมือถือเพื่อเช็คเวลาแบบ real-time)

ทางเข้าปราสาทกรุยแยร์ มีอาคารบ้านเรือนขนาบสองข้างทาง
ทางเข้าปราสาทกรุยแยร์ มีอาคารบ้านเรือนขนาบสองข้างทาง

ปราสาทกรุยแยร์ (Gruyeres Castle) ตั้งเด่นบนเนินเขาโดดๆ กลางทุ่งกว้าง โดยมีหมู่บ้านเก่าตั้งขนาบทางเข้าอยู่สองข้างทางเข้า ตามสไตล์ชุมชนโบราณ ทอดตัวไปตามความโค้งของภูมิประเทศ แต่ปัจจุบันอาคารเก่าเหล่านั้นได้กลายเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม พิพิธภัณฯฑ์ และอื่นๆ ที่หากินกับนักท่องเที่ยวไปแทบจะหมดแล้ว ซึ่งจากป้ายรถบัส ต้องเดินผ่านหมู่บ้านสองข้างทางเข้าไปอีกประมาณ 3-400 ม. ระหว่างทางจะพบ Tibet Museum และ H.R. Giger Museum ตั้งอยู่ด้วย ซึ่งเราจะมาแวะดูกันตอนขากลับ

ว่าด้วยปราสาท Gruyeres

ปราสาทกรุยแยร์ มองจากด้านนอก
ปราสาทกรุยแยร์ มองจากด้านนอก
การตกแต่งภายในปราสาท
การตกแต่งภายในปราสาท
การตกแต่งภายในปราสาท
การตกแต่งภายในปราสาท

ปราสาทนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 เพื่อเป็นป้อมปราการรักษาพื้นที่ของผู้ปกครองดินแดนในสมัยนั้น ตัวปราสาทมีขนาดไม่ใหญ่นักหากจะไปเทียบกับปราสาททางทางเยอรมันหรือฝรั่งเศส น่าจะใกล้เคียงกับปราสาทชียง (Chateau de Chillon) ที่ Veytaux ใกล้เมือง Montreux ริมทะเลสาบเจนีวามากกว่า ภายในยังคงประดับตกแต่งเพื่อแสดงสภาพการใช้งานของยุคนั้นไว้ในระดับหนึ่ง เดินชมทั่วๆ ได้ในเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

สวนดอกไม้ของปราสาทกรุยแยร์ (ภาพจาก Wikipedia)

ไฮไลท์อีกอันของปราสาทนี้คือสวนดอกไม้ แต่น่าเสียดายที่ตอนเราไปนั้นเป็นปลายฤดูใบไม้ร่วง ดอกไม้ทั้งหลายก็ร่วงโรยหมดไปนานแล้ว :-(

พิพิธภัณฑ์ทิเบต

เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เป็นอาคารสองห้อง มีสองชั้น ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาแนวทิเบต ฝรั่งเห็นอาจจะดูน่าสนใจ แต่ชาวพุทธอย่างคนไทยดูแล้วก็เฉยๆ จะมีสะดุดตาก็คือห้องโถงที่เป็นโบสถ์แบบฝรั่ง แต่ประดับพระพุทธรูปแทน

ภายในพิพิธภัณฑ์ทิเบต
ภายในพิพิธภัณฑ์ทิเบต

พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ริมทางที่จะเข้าปราสาทกรุยแยร์ ติดกับ H.R. Giger Museum เลย สวิสพาสเข้าฟรี ถ้าพอมีเวลาเข้าไปเดินๆ ดูซัก 5-10 นาทีก็แปลกตาดีครับ

พิพิธภัณฑ์ Alien ของ H.R. Giger

ที่นี่รวบรวมผลงานทั้งภาพเขียน/พิมพ์ ภาพสเก็ตช์ และงานปั้นรูปแนวสัตว์ประหลาด โดยเป็นฝีมือสร้างสรรของ H.R. Giger (Hans Rudolf Giger ออกเสียงแบบเยอรมันว่า “กีเกอร์” แบบอเมริกันว่า “ไกเกอร์”) จิตรกรและศิลปินชาวสวิส ผู้มีชื่อเสียงจากการออกแบบสัตว์ประหลาดต่างดาว ในหนัง Alien ไซไฟสยองเรื่องดังเมื่อหลายสิบปีก่อน (ปี 1979 และมีสร้างต่อมาอีกหลายภาคจนถึงปัจจุบัน) และได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง (ออสการ์) ในสาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพจากเรื่องนี้ด้วย

โถงทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ HR Giger เป็นส่วนเดียวที่ยอมให้ถ่ายรูปได้
โถงทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ HR Giger เป็นห้องเดียวที่ยอมให้ถ่ายรูปได้

พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ริมทางที่จะเข้าปราสาทกรุยแยร์ ติดกับ Tibet Museum เลย ผลงานที่รวบรวมไว้มีมากมายถึงขนาดทำพิพิธภัณฑ์ได้สี่ชั้น ที่นี่ก็สวิสพาสเข้าฟรีอีกเหมือนกัน ถ้าพอมีเวลาเข้าไปเดินๆ ดูซัก 10-15 นาทีก็น่าดูปนสยองใช้ได้เลย แต่ภายในห้ามถ่ายรูปนะครับ

โรงงานชีส Gruyeres

ตัวอย่างชีสที่บ่มระดับต่างๆ กัน
ตัวอย่างชีสที่บ่มระดับต่างๆ กัน

โรงงานชีสขนาดไม่ใหญ่ ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟ Gruyeres Gare ข้ามถนนมาก็ถึง แค่ลงทะเบียนเข้าชม (สวิสพาสเข้าฟรี) คุณก็จะได้รับตัวอย่างชีสที่บ่มจนอายุต่างๆ กันเป็นแพ็คเกจให้ชิมฟรี สามารถเดินชมนิทรรศการความเป็นมาของชีส และชมกระบวนการผลิตในโรงงานจริงได้ทางช่องกระจก ใช้เวลาเดินราว 15-20 นาทีก็ทั่ว หรือจะนั่งพักที่ร้านอาหาร/ร้านกาแฟเล็กๆ ในบริเวณต้อนรับก็ได้


เรื่อง : วศิน เพิ่มทรัพย์ DPlus Guide Team

ผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ ​DPlus เรียนมาทางวิศวะ แต่มาเอาดีทางเขียนหนังสือ ทำหนังสือและ content ชอบเดินทาง ถ่ายรูป สนใจอยากรู้ไปทุกเรื่อง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์​ ภูมิศาสตร์ แผนที่ จนถึงเทคโนโลยีและ Gadget :-)