นอกจากธรรมชาติที่สวยงามของญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่ถ่ายทอดความเป็นตัวตน และจิตวิญญาณได้ดี ก็คือ เทศกาล ซึ่งในแต่ละภูมิภาค จังหวัด รวมถึงเมืองของญี่ปุ่น ต่างก็มีการจัดเทศกาลจนมีชื่อเสียงระดับโลก
สำหรับเทศกาลของญี่ปุ่นมีมากมายตลอดทั้งปี ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อที่มีมาแต่ตั้งเดิม รวมถึงเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ฤดูกาล อาหารการกิน หรือแม้กระทั่งเกี่ยวกับบุคคลเอง
นอกจากความสวยงามของริ้วขบวน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย บทเพลงที่ขับขาน ท่วงท่าที่ร่ายรำแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือความร่วมแรง ร่วมใจ และตั้งใจจริงของชาวญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดออกมาอย่างงดงามและทรงพลัง จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยถ้าหากเราได้ไปสัมผัสกับเทศกาลต่างๆ เหล่านี้ด้วยตนเองค่ะ
เนื่องจากเทศกาลของญี่ปุ่นมีหลากหลาย เราจึงแบ่งออกเป็น 2 ตอน จาก 10 เทศกาลด้วยกัน โดย ตอนแรก เราจะแนะนำเทศกาลในฤดูร้อนที่ไม่ควรพลาด!!! มาดูกันว่ามีอะไรกันบ้างค่ะ
เทศกาล Awa Odori Kaikan (阿波おどり会館)
เทศกาลเต้นรำพื้นเมืองที่สืบทอดกันยาวนานกว่า 400 ปี ของจังหวัดโทคุชิมะ เกาะชิโกกุ เป็นเทศกาลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น และทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีนักเต้นจากทั่วสารทิศเข้าร่วมเกือบ 1 แสนคน และผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านคน
นักเต้นจากทั่วสารทิศที่เข้าร่วมเกือบ 1 แสนคนเทศกาลอะวะ โอโดริ (Awa Odori Kaikan) ถูกจัดขึ้นในวันที่ 12-15 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเทศกาลโอบ้ง (Obon) ของชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีความเชื่อว่า ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษจะได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องและลูกหลานได้ประมาณ 1 เดือน เทศกาลนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับวิญญาณของบรรพบุรุษเพื่อให้เกิดความครื้นเครง เบิกบาน ในขณะที่ได้กลับมาที่บ้านของตนนั่นเอง
สำหรับสถานที่จัดเทศกาลจะเริ่มจากถนนหลักทางทิศใต้ของสถานี JR Tokushima และถนนบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของย่านการค้า และถนนช้อปปิ้งหลักของเมือง มีทั้งโซนเข้าชมฟรี และต้องซื้อตั๋วเข้าชม (รวมการแสดงพื้นเมืองเอาไว้ด้วย) ขบวนเต้นรำจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00-23.00 น. (ในตอนกลางวันจะมีกิจกรรมต่างๆ ตลอดเวลา) เป็นเวลา 3 วัน ขบวนนักเต้นจะแบ่งออกเป็นชายและหญิง โดยนักเต้นชายจะอยู่ในชุดฮัปปิ (เป็นชุดยูกาตะที่เป็นแบบกางเกงขาสั้น) ลักษณะการร่ายรำจะเข้มแข็ง แต่สอดแทรกลีลาขบขันในที
ในขณะที่นักเต้นหญิงจะอยู่ในชุดยูคาตะยาวหลากสีสัน สวมหมวกสาน และสวมรองเท้าเกี๊ยะญี่ปุ่น ร่ายรำอย่างอ่อนช้อยงดงาม
ในขณะเต้นรำจะมีการร้องตะโกนของกลุ่มนักเต้น (เรียกว่า Ren : 連) และขานรับของผู้เข้าชม รวมถึงมีเสียงดนตรีโบราณประกอบอย่างอึกทึก เกิดพลังทางจิตวิญญาณ ทำให้ขนลุกอย่างน่าประหลาด
[info-t] วันที่ 12 – 15 สิงหาคม
[info-l] จังหวัด Tokushima เกาะ Shikoku บริเวณ ทิศใต้ของสถานี JR Tokushima และรอบๆ
เทศกาล Gion Matsuri (祇園祭)
เทศกาลกิอน เป็นเทศกาลประจำศาลเจ้ายาซากะ (Yasaka Shrine) จัดขึ้นเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โรคภัย รวมถึง ภัยพิบัติต่างๆ ให้ออกไปจากเมืองเกียวโต แล้วเปิดรับสิ่งเป็นมงคล และสิ่งที่ดีงามเข้ามาแทนที่ โดยเทศกาลกิอนจะจัดขึ้นในกรกฎาคมของทุกปี สืบเนื่องเป็นเวลากว่า 1,200 ปีแล้ว
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลกิอนคือรถแห่โบราณ (คล้ายกับที่อื่นๆ) ที่มีการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม ตระการตา โดยในแต่ละปีจะมีรถแห่โบราณเข้าร่วมจำนวน 32 คัน แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Yama จำนวน 20 คัน กับ Hoko จำนวน 10 คัน Yoiyama 1 คัน และ yamaboko junko อีก 1 คัน ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่าย คือ รถแห่โบราณ Hoko จะมีขนาดใหญ่กว่า สูงถึง 25 เมตร หนักราว 12 ตัน ด้านบนจะประกอบไปด้วย กลุ่มผู้เล่นดนตรีโบราณ ราว 40-50 คนขับกล่อมเสียงเพลง พร้อมกับเคลื่อนย้ายขบวน ซึ่งจะต้องใช้ชายฉกรรจ์ในชุดฮัปปิ (ยูคาตะขาสั้น) จำนวนมากช่วยกันดึงเชือก ถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งของงาน ส่วน รถแห่โบราณ Yama จะมีการตกแต่งสวยงามเช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่านั่นเอง
สำหรับขบวนแห่รถโบราณนั้นไม่ได้มีทุกวัน ผู้ที่ต้องการชมสามารถมาได้ในคืนวันที่ 16 กรกฎาคม จะเป็นการแห่ขบวน Yoiyama ซึ่งจะมีการประดับประดาโคมไฟอันสวยงามบนรถแห่โบราณนั่นเอง
ส่วนในวันที่ 17 กรกฎาคม จะเป็นขบวนแห่รถโบราณ Hoko 10 คัน โดยคันนำ เรียกว่า yamaboko junko จะมีกุมารศักดิ์สิทธิ์ (ชาย) ที่ถูกเลือกโดยชาวเมือง นั่งประจำอยู่ด้วย
ในวันที่ 24 กรกฏาคม จะเป็นขบวนแห่รถโบราณ Yama อีก 20 คัน ซึ่งกิจกรรมในวันที่ 17 และ 24 กรกฎาคมนั้น เริ่มตั้งแต่เวลา 09:00 – 13:00 น. ขบวนแห่จะเคลื่อนตัวจากย่านกิอนบริเวณสถานี Karasuma Oike ยาวไป แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนน Kawaramachi ไปจนถึงถนน Shinjo dori
ส่วนในวันอื่นๆ ก็จะมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ชม อาทิ การประกอบ และตกแต่งรถโบราณ เทศกาล Byobu Matsuri ซึ่งชาวเมืองจะเปิดบ้านให้คนทั่วไปได้ชมสมบัติประจำตระกูล เป็นต้น ส่วนบริเวณย่านกิอนก็มีซุ้มอาหาร ร้านค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก ให้ความรู้สึกเหมือนได้เดินงานวัดของญี่ปุ่น
ปล.ขบวนแห่แต่ละปีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากจะต้องมีการปิดถนน โดยจะมีการแจ้งในเว็บไซต์ www.gionmatsuri.jp/manu/manual3.htm
[info-t] ทั้งเดือนกรกฎาคม
[info-l] ย่าน Gion จังหวัด Kyoto
Aomori Nebuta Festival (ねぶた祭)
ที่เมืองอาโอโมริมีชื่อเสียงเรื่องเทศกาลแห่หุ่นโคมไฟ Nebuta มากที่สุดในญี่ปุ่น จัดขึ้นในฤดูร้อนระหว่างวันที่ 2 – 7 สิงหาคมของทุกปี เทศกาลมีทั้งกลางวัน และกลางคืน สามารถเรียกนักท่องเที่ยวมาชมงานถึงสามล้านคนต่อปี
Nebuta หรือหุ่นโคมไฟที่ทำเป็นรูปเทพเจ้า นักรบ ซามูไร บุคคลสำคัญทางประวัติศาตร์ ญี่ปุ่น และจีน รูปสัตว์ขนาด ใหญ่น่าเกรงขาม ตั้งอยู่บนรถขบวนแห่ที่กว้างกว่า 9 เมตร สูงเกือบ 5 เมตร ขับเคลื่อนด้วยชายฉกรรจ์ไม่ต่ำกว่า 20 คนต่อขบวน ในแต่ละปีจะมีรถขบวนโคมไฟ Nebuta เข้าร่วมในเทศกาลจำนวน 24 คัน
ในวันที่ 2 -6 สิงหาคม ช่วงเย็นย่ำ จะตั้งขบวนกันบริเวณด้านหน้าของสถานี JR Aomori ไปตามถนน Shinmachi แต่ละชุดขบวน (ทั้ง 24 คัน) จะนำโดยขบวนพาเหรดของชาวเมืองที่แต่งกายชุดท้องถิ่น ถือโคมไฟ ต่อด้วยกลุ่มชาวเมืองที่มีทุกเพศทุกวัยร้องตะโกน “Rassera, Rassera” ขานรับกัน พร้อมทั้งเต้นรำไปด้วย จากนั้นจะเป็นขบวนรถโคมไฟเนบูตะ ต่อด้วยคณะกลองไทโกะ (taiko drummers) และเหล่านักดนตรี ประโคมเสียงเพลงประชันกันครึกโครม
ในเย็นวันสุดท้าย (7 สิงหาคม) จะมีการแห่ขบวนไปยังริมอ่าวอาโอโมริ โคมไฟเนบูตะบางส่วนจะถูกนำขึ้นเรือแล้วแห่วนรอบอ่าว จากนั้นจะมีการจุดฟลุไฟสวยงาม อลังการ
Note : ในเมืองใกล้เคียงอย่างฮิโรซากิ ก็มีเทศกาลแห่โคมไฟขนาดใหญ่และจัดขึ้นพร้อมๆ กัน เรียกว่า Neputa แตกต่างกันตรงที่เมืองฮิโรซากิ หุ่นโคมไฟจะเป็นลักษณะ 2 มิติ
[info-t] 2-7 สิงหาคมของทุกปี
[info-l] ถนน Shinmachi ฝั่งใต้ของสถานี JR Aomori จังหวัด Aomori
Osaka Tenjin Matsuri (天神祭)
เทศกาลประจำฤดูร้อนของศาลเจ้า Osaka Temmangu จัดขึ้น เป็นประจำ ทุกวันที่ 24 และ 25 กรกฏาคมทุกปี เพื่อรำลึกถึงเทพเจ้าของศาล ซึ่งมีนามว่า Sugawara no Michizane มีประวัติมากว่า 1,050 ปีมาแล้ว
โดยในเช้าวันที่ 24 ผู้คนในชุดแต่งกายโบราณพร้อมพระของศาลจะยกกระบวนแห่เพื่อนำหอกของพระเจ้าไปลอยที่แม่น้ำในเมือง (Hoko Nagashi Shinji) เมื่อหอกลอยไปที่ใด ให้ถือว่าจุดนั้นเป็นที่ๆคณะศิษยานุศิษย์จะพากันร้องรำทำเพลงแห่บกและแห่เรือในเย็นวันรุ่งขึ้น เพื่อนำวิญญาณของเทพเจ้าไปเยี่ยมชมตามที่ต่างๆ ซึ่งศิษยานุศิษย์ตั้งบ้านเรือนอยู่ วันที่ 24 ถือเป็นวันเนาว์ สถานที่จัดเทศกาลหลักคือที่ศาล โดยจะมีการแห่กลองยักษ์ (Moyoshidaiko) ไปรอบๆเมือง และมีคณะศิษยานุศิษย์สลับกันแบกเกี้ยว หรือคณะสิงโต การละเล่นหลายต่อหลายชุดเข้าๆออกๆที่ศาลไปจนถึงค่ำ
ในวันที่ 25 ซึ่งเป็นวันจริงนั้น ช่วงบ่ายจะมีการอัญเชิญวิญญาณเทพเจ้าประทับราชยานออกไปจากศาล (Shinrei Igyo-sai) แห่ไปพร้อมกับกระบวนม้า กลอง รถเข็นดันจิริ กระบวนผู้ติดตามจำนวนราว 3,000 คน (Rikutogyo) ไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโอกาว่า ก่อนที่จะแยกย้ายกันถ่ายเทลงเรือทั้งคนทั้งกลองยักษ์ หรือเกี้ยว และราชยาน รวมเป็นจำนวนเรือราว 100 ลำ ล่องตามลำแม่น้ำกว่า 4 กิโลเมตร (Funatogyo) ร้องรำทำเพลงกันไปตลอด
ราว 2 ทุ่มเศษก็จะทยอยจุดพลุ จำนวนราว 5,000 ดอกขึ้นสู่ท้องฟ้า ท่ามกลางผู้ชมสองฝั่งแม่น้ำกว่า 2 ล้านคน เทศกาล Tenjin Matsuri ถือเป็นหนึ่งในสามเทศกาลยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นด้วย ท่านที่มีโอกาสมาเยือนโอซาก้าในช่วงนี้ ไม่ควรพลาดการเข้าร่วมชมกระบวนแห่ทั้งบนบกและบนเรือ
[info-t] 24-25 กรกฎาคม
[info-l] ศาลเจ้า Osaka Temmangu จังหวัด Osaka
Sanja Matsuri (三社祭)
เทศกาลใหญ่ประจำปีของย่านอะสะกุสะ กรุงโตเกียว ถูกจัดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม โดยจะจัดให้ตรงกับวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เพื่ออุทิศแด่ผู้ที่ถือว่าทำให้เกิดวัดเซนโซจิ (วัดอะสะกุสะ) และศาลเจ้าอะซะกุสะขึ้นมา รวมถึงเป็นการบูชาเทพเจ้าผู้คุ้มครองเมือง และขอพรให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง และร่ำรวยเงินทอง ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 2 ล้านคน
วันแรกของเทศกาล (วันศุกร์) ในช่วงบ่าย จะมีขบวนแห่ Daigyoretsu (大行列) ผู้คนมากมายจะแต่งกายตามธรรมเนียมญี่ปุ่น พร้อมทั้งเต้นระบำ ร้องรำ ท่ามกลางเสียงดนตรีโบราณ และกลองไทโกะ เราสามารถพบเห็นเหล่าเกอิชา ไมโกะ หรือแม้กระทั่งเหล่าบรรดาสมาชิกยากูซ่าที่อวดลวดลายสัก เดินรวมภายในขบวนด้วย ขบวนแห่จะเริ่มเคลื่อนจากถนน Yanagi Dori เข้าไปทาง Nakamise Dori ไปจนถึงวัดเซนโซจิ และศาลเจ้าอะสะกุสะ
วันที่ 2 (วันเสาร์) ของเทศกาล เป็นพิธีการแห่ Mikoshi ซึ่งเป็นศาลเจ้าแบบเคลื่อนที่จำนวน 100 หลัง จาก 44 เขต ของย่านอะสะกุสะ จะมารวมตัวกันที่ประตู Kaminarimon ซึ่งเป็นประตูใหญ่ด้านหน้าสุดก่อน จากนั้นจะเข้าไปยังวัดเซนโซจิ ขบวนแห่จะผ่านถนน Nakamise dori จนถึงประตู Hozomon เพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปเจ้าแม่กวนอิมทองคำ ต่อด้วยศาลเจ้าอาซากุสะที่อยู่ใกล้ๆกัน เพื่อทำพีธีกรรมขอพรจากเทพเจ้าจากนั้นจึงแห่ Mikoshi ต่อไปจนทั่วย่านอะสะกุสะ ตลอดทางจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มารอชมขบวนแห่ Mikoshi เพราะมีความเชื่อว่าจะนำโชคดี และความเจริญมาให้
และวันสุดท้าย (วันอาทิตย์) ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงาน เพราะจะเป็นขบวนแห่ Mikoshi จำนวน 3 หลังของศาลเจ้าอะสะกุสะ Kaminarimon ซึ่ง Mikoshi ทั้งสามนี้เป็นตัวแทนของบุคคลทั้งสามในตำนานที่สร้างวัดนั่นเอง
โดยงานจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. โดยขบวน Mikoshi ทั้ง 3 จะถูกนำออกมาแห่ในบริเวณถนน Nakamise Dori ไปจนถึงด้านหน้าประตู แล้วขบวนจะแห่ไปจนครบทั้ง 44 เขตในย่านอะสะกุสะ และจะวนกลับมาที่วัด Sensoji อีกครั้ง เวลาประมาณ 2 ทุ่ม ซึ่งตรงพิธีการในตอนกลางคืน
[info-t] วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ที่สามของเดือนพฤษภาคม
[info-l] วัด Asakusa จังหวัด Tokyo
นี่เป็นเพียงตอนแรกของเทศกาลญี่ปุ่นนะคะ อย่าลืมติดตามตอนที่ 2 มาดูกันว่าเทศกาลในฤดูกาลอื่นๆ มีอะไรกันบ้าง เร็วๆ นี้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เทศกาลดังของญี่ปุ่น ตอนที่ 2