เมืองเอลลิงเก้น มีฉายาว่า “Pearl of the Franconian Baroque” หรือ ไข่มุกแห่งศิลปะบาโรกแบบฟรังโกเนีย และเป็นหนึ่งในเมืองแนวบาโรกที่สวยที่สุดในภาคใต้ของเยอรมนี
เมืองนี้ ตั้งอยู่ตรงใจกลางของรัฐบาวาเรีย ซึ่งเป็นรัฐทางใต้สุดของประเทศเยอรมนี แม้ว่าจะเป็นเพียงเมืองชนบทเล็กๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ แต่ก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจ เผอิญที่ผู้เขียนเดินทางผ่านเมืองนี้จึงถือโอกาสแวะเที่ยวชมและถ่ายภาพประมาณ 2-3 ชั่วโมง แม้ว่าจะไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้มากนัก แต่ทำให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่ส่งต่อเสน่ห์และความงดงามของสถาปัตยกรรมมาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยจักรวรรดิโรมัน บริเวณเมืองเอลลิงเก้นนี้ถือว่าอยู่สุดปลายชายแดนของจักรวรรดิเลยทีเดียว ยังมีกำแพง Roman Limes และป้อมสมัยนั้นซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหลงเหลือเป็นหลักฐานอยู่นอกเมืองขึ้นไปทางเหนือไม่ไกล ถัดไปจากนั้นก็เรียกว่าเป็นแดนของคนเถื่อนไม่มีอารยธรรม
แม้ว่าจะมีหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวเยอรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 แต่ชื่อเอลลิงเก้นมาปรากฏในเอกสารครั้งแรกก็ปีค.ศ. 899 แต่ตั้งแต่ปี 1216 เป็นต้นมาเมืองก็อยู่ภายใต้การดูแลของคณะอัศวินทิวทอนิกซึ่งเข้ามาตั้งสาขาภาคฟรังโกเนียที่เมืองนี้ และสร้างอาคารสำคัญต่างๆ ทำให้เมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับจนถึงจุดสูงสุดในยุคที่มีการสร้างปราสาทเอลลิงเก้น
* บาโรก (Baroque) เป็นศิลปะยุโรปรูปแบบหนึ่งที่เน้นการตกแต่งประดับประดาอย่างหรูหราโอ่อ่า เป็นที่นิยมในยุโรปช่วงต้นศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้านั้นศิลปะยุโรปจะนิยมรูปแบบเรอแนซ็องส์ (Renaissance) และหลังจากสมัยของบาโรกจะเป็นยุคของศิลปะแบบโรโกโก (Rococo) และนีโอคลาสสิก (Neoclassic)
* ฟรังโกเนีย (Franconia) หรือ ฟรังเคิน (Franken) ในภาษาเยอรมัน คือภูมิภาคที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐบาวาเรีย (หรือ Bayern) และครอบคลุมไปถึงรัฐใกล้เคียงอีกเล็กน้อย เนื่องจากพื้นที่แถบนี้เป็นถิ่นฐานของชาวเยอรมันเผ่าแฟรงก์กลุ่มหนึ่งที่ครอบครองต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ภูมิภาคนี้มีสำเนียงภาษาถิ่นเฉพาะตัว และประกอบด้วยเมืองหลักได้แก่ Würzburg, Nuremberg และ Bamberg
* คณะอัศวินทิวทอนิก (Teutonic Order หรือ German Order) เป็นกลุ่มนักรบทางศาสนากลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในสมัยยุคกลางของยุโรป และเคยมีอาณาจักรเป็นของตัวเอง ผู้นำคณะมีตำแหน่งเป็น “แกรนด์มาสเตอร์” การแต่งกายของคณะนี้จะสวมเสื้อคลุมไม่มีแขนสีขาวที่มีเครื่องหมายไม้กางเขนสีดำ (แตกต่างจากพวกอัศวินเทมพลาร์ที่ใช้เครื่องหมายไม้กางเขนสีแดง) ปัจจุบันคณะนี้ยังคงมีอยู่ แต่มีบทบาททางศาสนาเท่านั้น
เริ่มต้นกันที่สะพานศักดิ์สิทธิ์ (Heiligenbrücke หรือ sacred bridge) ที่ทอดข้ามแม่น้ำ Schwäbische Rezat ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำ Fränkische Rezat (Franconian Rezat) สะพานนี้สร้างในค.ศ. 1762 โดยใช้หินทราย บนราวสะพานประดิษฐานรูปปั้นนักบุญ 8 องค์ ถ้าเดินทางมาเอลลิงเก้นทางรถไฟ ก่อนจะเข้าเมืองก็จะต้องเดินผ่านสะพานนี้
ต่อมาจะพบกับ Pleinfelder Tor ประตูเมืองเอลลิงเก้นทางด้านทิศเหนือ กำแพงและประตูเมืองของเมืองนี้สร้างขึ้นในระหว่างค.ศ. 1590-1660 แต่เสียหายไปมากเนื่องจากถูกทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2
จากข้อมูลบอกว่าที่ประตู Pleinfelder Tor นี้มีพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาเล็กๆ ให้ชมฟรีด้วย แต่ต้องนัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น
ศาลาว่าการเมืองหรือ Rathaus ของเมืองเอลลิงเก้น ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณสี่แยกใจกลางของเมือง อาคารนี้วางแผนการสร้างโดย Franz Joseph Roth และแล้วเสร็จในค.ศ. 1761
อีกมุมหนึ่งของศาลาว่าการ จะเห็นถึงความสงบเงียบของเมืองนี้ ใกล้ๆ กับศาลาว่าการมีศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวซึ่งเราจะหาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองนี้ได้ที่นี่
เมื่อเดินลงใต้ต่อไปตามถนนเส้นเดิม ก็จะมาถึงโบสถ์ St. George โบสถ์ประจำเมือง วางแผนการสร้างโดย Franz Joseph Roth เช่นกัน ในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาโรก และสถาปนาในปีค.ศ. 1731 เหนือประตูทางเข้ามีรูปปั้นนักบุญอุปถัมภ์ของคณะอัศวินทิวทอนิก 3 องค์ ผลงานของประติมากร Johann Wagner
ภาพโบสถ์ St. George จากมุมนี้จะเห็นส่วนหนึ่งของประตูเมืองด้านทิศใต้ที่หลงเหลือจากการถูกระเบิดทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย
ภายในโบสถ์ St. George ประดับลวดลายปูนปั้น ทาสีขาวสลับชมพูดูสดใสทีเดียว
ด้านหลังโบสถ์คือ Mariahilfkapelle (Mariahilf Chapel) สร้างโดย Franz Joseph Roth เช่นกัน และในช่วงเวลาเดียวกับการสร้างโบสถ์หลังใหญ่ ภายในเป็นที่ฝังศพของ Karl Heinrich von Hornstein หัวหน้า (Landkomtur) ของคณะอัศวินทิวทอนิกในเขตนี้ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบผังเมืองในแนวบาโรกและเป็นผู้สร้างปราสาทเอลลิงเก้นในยุคที่ถือว่าเป็นยุคทองของเมืองนี้
ย้อนกลับขึ้นเหนือมาตามเส้นทางเดิม แล้วเลี้ยวผ่านหน้าศาลาว่าการ จะมองเห็นปราสาทเอลลิงเก้นอันงดงาม ทางซ้ายของรูปคือสะพานที่ทอดข้ามลำน้ำเข้าสู่บริเวณของปราสาท
ปราสาทเอลลิงเก้นเมื่อมองจากอีกมุม
ที่ตั้งของปราสาทนี้เดิมมีอาคารรูปแบบเรอแนซ็องส์อยู่ก่อนแล้วจำนวนหนึ่ง แต่มาได้รับการปรับปรุงและต่อเติมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ค.ศ. 1708 เป็นต้น โดยสถาปนิกหลายคนมาจนกลายเป็นรูปแบบบาโรกที่เด่นขึ้นมาแทน
เมื่อข้ามสะพานเข้าสู่บริเวณปราสาทเอลลิงเก้นแล้วมองย้อนกลับไปยังตัวเมือง
ฝั่งตรงข้ามถนนกับอาคารหลักของปราสาทเอลลิงเก้นคือโรงเบียร์ของปราสาท (Schlossbrauerei) และมีส่วนหนึ่งเป็นร้านอาหารที่ตั้งโต๊ะในลานกว้าง บรรยากาศน่านั่งมากๆ
ลานภายในของปราสาทเอลลิงเก้น
อาคารทางปีกนี้ของปราสาทเอลลิงเก้นคือโบสถ์ของปราสาท ซึ่งภายในก็ตกแต่งแนวบาโรกอย่างสวยงาม น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้เข้าไปชม
ส่วนยอดของโบสถ์ในปราสาทที่เป็นหอระฆังและหอนาฬิกา
มุมมองจากด้านหลังของปราสาท
สวนของปราสาทเอลลิงเก้นที่อยู่ข้างๆ ตัวปราสาทนั้นเปิดเป็นสวนสาธารณะ เป็นสวนสไตล์อังกฤษที่งดงามด้วยดอก Scilla-Wiese หรือ Siberian Blue Star ดอกหญ้าสีฟ้าสดที่พากันเบ่งบานเต็มพื้นยามฤดูใบไม้ผลิ ช่างสมกับชื่อ “ดวงดาวสีฟ้า” นัก ที่นี่คู่แต่งงานชาวเมืองจะนิยมมาถ่ายภาพกัน
ปราสาท Ellingen
ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติของรัฐบาวาเรีย ภายในมีพิพิธภัณฑ์ Deutschordens-Museum (German Order Museum), ห้องรับรอง และ Cultural Center East Prussia ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บรักษาและดูแลมรดกทางวัฒนธรรมของปรัสเซียตะวันออก
เวลาเปิด : เมษายน-กันยายน 09:00-18:00 น., ตุลาคม-มีนาคม 10:00-16:00 น. ปิดวันจันทร์
ค่าเข้าชมภายใน : 4.5 ยูโร
เมือง Ellingen
GPS : 49.0608, 10.9677
การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะมายังเอลลิงเก้น
– จาก Nuremberg มีรถไฟตรงมายัง Ellingen ทุกครึ่งชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที
– สถานีรถไฟ Ellingen อยู่ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 1 กม. สามารถเดินเที่ยวชมได้
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมือง Ellingen (ภาษาเยอรมัน) จะดูได้ที่ www.stadt-ellingen.de/startseite-von-tourismus-ellingen