เคยกันมั้ยเวลาลากกระเป๋าไปเช็กอินแล้วกุมขมับเพราะน้ำหนักเกิน เรารู้ว่าคุณเคยโดน! โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบินด้วยสารการบินโลว์คอสต์ ซึ่งหลายๆเจ้าเค้าทำราคาให้เราถูกได้ก็เพราะเค้าควบคุมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระไง (คิดต้นทุนยิบย่อยยุบยับกันเลยทีเดียวกว่าจะทำราคาออกมาได้ต่ำเนี่ย) ถ้าเราแบกของไปเพิ่ม ทางสายการบินเขาก็อาจต้องเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้นในการบินขึ้นและร่อนลง เลยมาคิดตังค์เพิ่ม (บวกกำไร) กับเราไง อ้าว!
ว่าแต่ว่าคุณรู้กันบ้างมั้ยว่ากระเป๋าคุณหนักเท่าไหร่? ไม่ช่าย! ไม่ใช่กระเป๋าตังค์! กระเป๋าเดินทางเปล่าๆ ก่อนที่จะใส่อะไรต่อมิอะไรลงไปน่ะ ใบของคุณมันหนักเท่าไหร่ 3 กิโล, 4 กิโล หรือ 5 กิโล? ถ้าหนัก 5 กิโลนี่ก็เท่ากับหนึ่งในสี่ของน้ำหนักที่สายการบินให้เอาขึ้นได้แล้วนะ (บางสายการบินให้ 20 กิโลกรัม บางสายการบินก็ 25 กิโลกรัม หรือบางทีก็ถึง 30 กิโลกรัม แล้วแต่เงื่อนไขในตอนซื้อตั๋วและระยะทางที่บิน บินไกลก็อาจยอมให้ขนมากหน่อย… แบบว่าพี่ไปหลายวันนะเอ้อ) อย่างนี้ก็แปลว่าคุณใส่ของลงไปได้อีกแค่ 15 กิโลเองนะ! แต่ถ้ากระเป๋าคุณลดน้ำหนักลงเหลือแค่ 3 กิโลกรัมล่ะ? คุณก็ใส่ของเพิ่มได้อีกตั้ง 2 กิโล ถูกมั้ย
ใช่แล้ว นี่คือเทคนิคที่จะช่วยให้คุณขนของไปได้มากขึ้นยังไงล่ะ! ด้วยกระเป๋าเดินทางที่เบาลง นอกจากอาจจะทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำหนักเพิ่มแล้ว ยังช่วยให้ขนของได้มากขึ้น ลดโอกาสในการออกลูกออกหลานของกระเป๋าเดินทางในเที่ยวขากลับไปได้บ้าง และเวลายกขึ้นลงจากสายพานที่สนามบิน ยกขึ้นบนที่วาง ใส่หรือยกออกจากท้ายรถเช่าหรือรถแท็กซี่ ขนเข้าโรงแรม ฯลฯ มันจะยังช่วยประหยัดหลังของคุณไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรด้วยนะ!
ทีนี้ ถ้าพบว่ากระเป๋าของคุณมันค่อนข้างหนัก (ต้องบอกว่า “ค่อนข้าง” เพราะเส้นที่ว่า “หนักไปแล้วนะ” ในใจแต่ละคนคงไม่เท่ากัน) ก็อาจลองดูว่าคุ้มมั้ยที่จะหากระเป๋าเดินทางใบใหม่ที่เบาลง โดยเฉพาะใบใหญ่ที่ต้องรับบทหนัก กับใบเล็กที่ต้องลากหรือถือติดตัวขึ้นเครื่อง (อย่าลืมว่าเครื่องบินจอดไม่ได้เทียบงวงให้เราเดินลากกระเป๋าเชิดหน้าออกมาเสมอไปนะครับ ถึงแม้ในต่างประเทศก็เถอะ อย่าลืมนึกถึงโอกาสที่ต้องแบกมันขึ้นลงบันไดเครื่องเพื่อไปต่อรถบัสบ้างก็แล้วกัน) ซึ่งตอนนี้วัสดุเบาที่ทำกระเป๋าเดินทางก็มีให้เลือกหลายอย่าง ที่นิยมใช้กันมากก็เช่น
กระเป๋าทรงอ่อน (Soft Luggage)
ผ้าเป็นวัสดุที่ใช้ทำกระเป๋าเดินทางกันมาตั้งแต่นานแล้ว ที่จริงตัวผ้าเองถึงจะไม่เบาแต่ก็ไม่ได้หนักมาก หากด้วยความที่มันจำเป็นจะต้องมีโครงให้คงรูปร่างได้ จึงทำให้มีน้ำหนักรวมค่อนข้างมาก แต่ก็มีข้อดีที่ยัดของจนโป่งได้ ขณะเดียวกันก็เสียตรงที่ไม่คงรูปนักนี่แหละ ของที่เป็นกล่องๆ ใส่แล้วก็เลยอาจเสียรูปทรงจนบูบี้ได้ และความจริงที่เรียกรวมๆ ว่าผ้านี้ก็ยังมีแยกย่อยได้อีกหลายอย่างเช่น
- Polyester เป็นผ้าใยสังเคราะห์ที่ใช้กันมานานแล้ว มีความแข็งแรงทนทานในระดับหนึ่ง บางครั้งที่เราเห็นผ้าเบอร์ต่างๆเช่น 600D ตัว D มาจาก Denier นั่นก็คือหน่วยวัดความหนาแน่นของผ้าประเภทนี้ดังนั้น ผ้า 1000D จึงมีความหนาแน่นมากกว่าผ้า 600D ที่ทำมาจาก Polyester ด้วยกัน
- Nylon ไนลอนเป็นผ้าใยสังเคราะห์ชนิดแรกๆที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาได้ ปัจจุบันกระบวนการผลิตทำให้ได้ผ้าไนลอนที่นุ่มและเหนียวทนทานกว่า polyester ทั้งนี้ผ้าไนลอนมีหน่วยวัดความหนาแน่นเป็น Denier เหมือนกัน (แต่จะใช้เปรียบเทียบกับ polyester ที่ค่าเดียวกันไม่ได้) นอกจากนี้ยังมีผ้าใยสังเคราะห์พิเศษที่อาจมีไนลอนเป็นส่วนประกอบอีกเช่น
- Ballistic Nylon ซึ่งเป็นไนลอนที่ทนทานเป็นพิเศษ มีที่มาว่าในสมัยสงครามโลกมันได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้ป้องกันหรือลดความรุนแรงของเศษวัสดุจากการแตกกระจายของกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิด (แต่ไม่ถึงขั้นกันกระสุนได้แต่อย่างใด) เมื่อนำมาทำกระเป๋าก็เลยทนต่อการขีดข่วนฉีกขาดมากกว่าไนลอนธรรมดา
- Cordura เป็นยี่ห้อหรือชื่อการค้าของผ้าไนลอนชนิดพิเศษที่ทนทานต่อการกัดกรอนหรือฉีกขาดได้ดีกว่าปกติ และอาจผลิตโดยผสมกับเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ เข้าไปด้วยก็ได้
นอกจากนั้นยังมีวัสดุอื่นๆ ที่ทำกระเป๋าแบบอ่อนได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก เช่น หนังแท้ (ทนทาน แต่หนัก แพง และดูแลยาก) กับ หนังเทียม หรือ หนัง PU (ที่เบาและดูคล้ายหนังแต่ไม่ทนทานเท่าที่ควร)
กระเป๋าทรงแข็ง (Hard Luggage)
พลาสนิกที่นิยมนำมาใช้ทำกระเป๋าทรงแข็งก็มีหลายเกรด มีความแข็งแรง น้ำหนัก และราคาต่างๆกัน เช่น
- ABS เป็นชื่อของพลาสติกสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง มีการนำมาทำกระเป๋าเดินทางกันพอสมควร เพราะมีความแข็งแรงทนทานและน้ำหนักไม่มากนัก กระเป๋าทรงแข็งทั่วๆ ไปที่ราคาไม่สูงนักมักจะเป็นวัสดุนี้
- PC (Polycarbonate) นี่ก็เป็นวัสดุสังเคราะอีกพวกหนึ่งซึ่งมีความแข็งแรงและมีน้ำหนักเบากว่า ABS จึงมีการใช้กันแพร่หลายในงานทำป้ายขนาดใหญ่ หลังคา และรวมถึงนิยมนำมาใช้ทำกระเป๋าเดินทางที่เบาและแพงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งด้วย ซึ่งวัสดุนี้มีทั้งแบบธรรมดา และแบบที่มีโครงสร้างหรือกรรมวิธีผลิตให้แข็งแรงและเบาเป็นพิเศษ โดยมีชื่อการค้าที่ต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อที่ผู้ผลิตวัสดุจะตั้ง ที่นิยมนำมาทำกระเป๋าเดินทางก็เช่น Makrolon, Hyzog, Lexan, Texin และอื่นๆอีกมากมาย บางตัวก็มีคุณสมบัติพิเศษผ่านมาตรฐานการกันไฟและอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ยังมีวัสดุอื่นๆที่ใช้ทำกระเป๋าทรงแข็งเช่น อลูมิเนียม (Aluminum) ซึ่งมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทานต่อการกระทบกระแทก แต่ราคาสูงและน้ำหนักมากกว่า PC มีใช้ในกระเป๋าราคาแพงบางแบบที่ต้องการความทนทานเป็นหลัก เช่นใช้ขนเครื่อวงมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ หรือบางยี่ห้อก็ใช้พลาสติกสังเคราะห์แบบผสม (composite) อื่นๆ ที่ไม่ใช่ Polycarbonate ล้วน ซึ่งมีชื่อการค้าต่างออกไป เช่น Tegris, Curv เป็นต้น
พอรู้แล้วว่ามีวัสดุแบบใดบ้าง ก่อนจะซื้อกระเป๋าใหม่ก็ลองถามคนขายหรือดูฉลากที่บอกว่ามันทำมาจากวัสดุอะไรดูก็ได้นะครับ แต่ว่าของฟรีไม่มีในโลก โดยมากวัสดุยิ่งเบา กระเป๋าก็จะราคาสูงเป็นส่วนกลับกัน แม้แต่วัสดุประเภทเดียวกันอย่าง PC ก็ยังอาจมีเกรดต่างๆ กันได้อีก และตามเคย ยิ่งเบาแต่แข็งแรง ก็ยิ่งแพงและเป็นภาระกระเป๋า(สตางค์) มากขึ้น :-(
เทคนิค – วิธีชั่งน้ำหนักกระเป๋า
แถมให้อีกนิด ก่อนจะเลือกซื้อกระเป๋าเบาๆ คุณควรรู้ก่อนว่าใบที่ใช้อยู่ตอนนี้มันหนักเท่าไหร่ ซึ่งก็ทำได้ตั้งแต่ลงทุนไปซื้อตาชั่งน้ำหนักกระเป๋าโดยเฉพาะ (แบบดิจิตอลก็มีนะ ตามรูป) ถ้าคิดว่าใช้บ่อยและเดินทางกันหลายคนก็น่าจะคุ้ม
หรืออีกวิธีประหยัด ก็เอาขึ้นตาชั่งแบบที่ใช้ชั่งน้ำหนักตัวนี่แหละ (ซึ่งน้ำหนักแค่ 3-4 กิโลบางทีมันก็ดูยากหรือไม่ยอมขยับ) แนะนำให้ยกกระเป๋าเปล่าแล้วเดินขึ้นไปยืนบนตาชั่ง จากนั้นวางกระเป๋าลงแล้วชั่งน้ำหนักตัวเปล่าๆ ดูว่าน้ำหนักลดไปเท่าไหร่ แค่นี้คุณก็พอมีไอเดียคร่าวๆ แล้วว่ากระเป๋าใบเก่งของคุณหนักกี่กิโลกัน :-)
เรื่อง : วศิน เพิ่มทรัพย์ DPlus Guide Team