เดือนที่แล้วผมเพิ่งกลับมาจากเซี่ยงไฮ้ มหานครศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีน หลังจากไม่ได้ไปมาหกปี และพบว่ามันเปลี่ยนไปพอสมควร นอกจากพวกตึกระฟ้า Landmark ใหม่ๆ ที่เปิดหลังงาน Expo 2010 อย่าง ตึกจินเม่า ตึก SWFC และตึก Shanghai Tower รวมถึงรถใต้ดินที่เสร็จเพิ่มอีกหลายสาย ห้างสรรพสินค้าที่เปิดกันเยอะมากจนสงสัยว่าใครกันจะมาเดินจนทั่ว (และหลายห้างก็น่าจะร้างคนจริงๆ จนดูเหมือนว่าฟองสบู่อสังหาฯ จะเกิดขึ้นที่นี่เหมือนกัน)
แต่ที่น่าสังเกตคือเรื่องของการจ่ายเงินของคนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เงินอิเล็กทรอนิคส์” ที่จ่ายผ่านแอพชนิดต่างๆ ในมือถือ ซึ่งมีหลากหลายแบบให้เลือกใช้ ถึงขนาดที่ว่าเวลาจะจ่ายเงินแต่ละครั้งตามร้านค้า ร้านอาหาร จะมีตัวเลือกมากมายจนงงทีเดียวว่าจะจ่ายด้วย Wechat, Alipay, Apple Pay (ที่เพิ่งจะเข้ามาเปิดบริการ) บัตรเครดิต หรือสุดท้ายคือ เงินสด
ที่น่าสนใจคือ ดูเหมือนชาวจีนจะใช้เงินสดกันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ธนบัตรกลายเป็นตัวเลือกที่ยุ่งยากและต้นทุนการรับแพง เพราะทุกที่ที่รับเงินสดจะต้องมีเครื่องนับเงิน ไม่ใช่เพื่อนับจำนวนเท่านั้น แต่เครื่องนับเงินที่นี่จะสแกนแบงก์ปลอมไปด้วยในตัวเลย ดังนั้นต่อให้ส่งธนบัตรให้เพียงใบเดียวก็ต้องใส่เข้าเครื่องนับเพื่อสแกนดูก่อน
นอกจากนี้คนส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟน (ไม่ว่าจะเป็นรุ่นถูกหรือรุ่นแพงก็ตาม แต่ก็สามารถต่อเน็ตและมีความสามารถพอใช้ในการจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้) ถึงแม้จะมีคนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ใช้แอพฯ ต่างๆ ในการจ่ายเงินเป็นหรือคล่อง แต่ถ้าเป็นแล้วก็ช่วยให้ชีวิตสบายขึ้นอย่างมาก เพราะความที่จีนมีผู้คนมากมายมหาศาล การทำธุรกรรมหรือซื้อของหลายๆอย่าง เช่น ซื้อตั๋วรถไฟความเร็วสูงไปต่างเมืองไม่กี่ร้อยกิโลเมตร กลายเป็นเรื่องโกลาหลที่ต้องต่อคิวรอหน้าเคาน์เตอร์ไม่น้อยกว่าครึ่งค่อนชั่วโมง และก็อย่างที่รู้กันว่าคนจีนอีกไม่น้อยที่เคยชินกับระบบไม่เข้าคิว :-( การต่อแถวแบบนี้จึงสร้างความยุ่งยากและเสียเวลามาก
เมื่อเทียบระหว่างคนที่ยอมเสียเวลามาต่อคิวซื้อตั๋วจากพนักงานที่เคาน์เตอร์ กับคนที่ไปใช้เครื่องออกตั๋วอัตโนมัติ ซึ่งต้องซื้อล่วงหน้ามาจากแอพฯ ในมือถือ และต้องมีการแปะบัตรประชาชนที่เครื่องให้สแกนเพื่อพิมพ์ชื่อลงในตั๋วด้วย (ระบบรถไฟความเร็วสูงที่นี่เหมือนตั๋วเครื่องบิน คือต้องระบุชื่อในตั๋วและมีการสแกนกระเป๋าก่อนเข้าขบวนรถด้วย) กะด้วยสายตาคร่าวๆ แล้วน่าจะมีจำนวนมากพอๆ กัน คือครึ่งต่อครึ่งเห็นจะได้
กลับมาที่การจ่ายเงินด้วยแอพฯ อีกที จะเห็นว่าที่ไหนๆก็รับ WeChat (เจ้าของเดียวกับ Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีน ที่เคยมีแอพ QQ ซึ่งใช้แชทกันแพร่หลายบนคอมพิวเตอร์มาแล้วในยุคก่อนนี้ และตอนนี้ก็เป็นเจ้าของเว็บ portal ใหญ่สุดของไทยอย่าง Sanook.com ด้วย) ส่วนที่รองลงมาก็จะเป็น Alipay ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนนำมาใช้ในเมืองไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชียงใหม่ ส่วน Apple Pay ก็เพิ่งจะเปิดตัวให้ใช้กัน
คนที่นี่เล่ากันว่านอกเหนือจากการคุยแล้วยังสามารถใช้ WeChat ทำได้แทบจะทุกอย่างตั้งแต่ฟังเพลง อ่านข่าว ซื้อตั๋วรถไฟ ตั๋วหนัง ฯลฯ รวมไปถึงมีหน้าที่เป็น timeline ให้โพสต์ข้อมูลถึงเพื่อนๆ แบบเดียวกับที่เราเล่น Facebook กันได้ด้วย ดูแล้วก็น่าจะใกล้เคียงหรือมาในโมเดลเดียวกับที่ LINE พยายามจะทำในบ้านเรา หรือที่ Facebook + Messenger ก็กำลังจะทำอยู่นั่นเอง (ต้องไม่ลืมว่าที่จีนนี่เค้าบล็อกไม่ให้คนทั่วไปใช้ได้ทั้ง Facebook และบริการทุกอย่างของ Google ทั้ง Google Search, Google Maps และอื่นๆนะครับ คนที่ใช้ได้มีแต่ชาวต่างชาติที่เปิดบริการ roaming เบอร์มือถือมา หรือต่อผ่าน VPN ออกไปเท่านั้น)
ที่จริงต้องบอกว่าสามารถใช้ WeChat ได้แม้กระทั่งซื้อผักผลไม้ในร้านที่ตลาด และใช้แทนการใส่ซองให้คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงานด้วยซ้ำไป!?! ลองนึกดูนะครับว่าในงานแต่ง ไม่ต้องหาญาติสนิทที่ไว้ใจได้มานั่งเฝ้ากล่องใส่ซอง ไม่ต้องมานั่งนับเงินแล้วหอบไปเข้าธนาคารหลังพิธีเลิก (หรือยังมีบ้างก็น้อยลงกว่าเดิมเยอะ) แต่เงินโอนผ่านบัญชีไปรออยู่ในธนาคารเรียบร้อย เท่านี้คู่แต่งงานก็แฮปปี้ขึ้นและเหนื่อยน้อยลงไปเรื่องนึงแล้ว
ในเมื่อคนใช้ธนบัตรน้อยลง ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นตู้ ATM น้อยลง และรัฐบาลก็อาจใช้งบในการพิมพ์แบงก์ใหม่ออกมาน้อยลงไปด้วย การซื้อข้าวของต่างๆ ถ้าไม่สั่งออนไลน์ก็ทำผ่านเครื่องอัตโนมัติได้มากขึ้น ซึ่งทำให้สังคมจีนสามารถจัดสรรทรัพยากรมาบริการประชากรกว่า 1,400 ล้านคนได้มากขึ้น เพราะถ้าไม่มีทางออกประเภทนี้เลยการใช้ชีวิตคงจะวุ่นวายยิ่งกว่านี้
แต่ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ทั้งหมดนี้เป็นบริการจากฝั่งผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต ไอที หรือ e-commerce ทั้งสิ้น ไม่ได้มีสถาบันการเงินอย่างธนาคารมาออกหน้าเลย อย่างมากก็น่าจะอยู่หลังฉากคอยเชื่อมระหว่างบัญชีเงินฝากของผู้ใช้กับบัญชีในแอพ แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมีเงินมากกว่ากัน เพราะถ้าใครค้าขายโดยรับเงินผ่านแอพฯ ได้ ก็ย่อมมีเงินค้างอยู่ในแอพฯ ได้มากพอให้นำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน จนอาจจะไม่ต้องเติมเงินเข้าไปอีกด้วยซ้ำไป มีแต่เอาออกมาฝากแบงก์เสียบ้างเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยเท่านั้น งานนี้เรียกว่าสถาบันการเงินดูเหมือนจะถูก disrupted หรือเปลี่ยนแปลงล้มล้างระบบไปจนตั้งรับแทบไม่ทันทีเดียว
ในบางประเทศอย่างอเมริกา มีคนสำรวจกันออกมาว่าน่าจะมีคนเติมเงินทิ้งไว้ในระบบบัตรหรือแอพฯ บางตัว อย่างกาแฟยี่ห้อที่มีโลโก้เป็นนางเงือกเขียว จะเป็นบัตรเติมเงินหรือแอพฯ ก็ได้ คิดแล้วมากกว่าเงินฝากของบางธนาคารเสียอีก ที่จริงต้องเล่าเพิ่มว่าที่เมืองใหญ่ของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ หรือเมืองใหญ่รองลงไปอย่าง หังโจว (Hangzhou) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 150 กม. และกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ G20 นี่หาร้านกาแฟสตาร์บัคส์ง่ายกว่าร้านสะดวกซื้อเสียอีก เทียบกับร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven, Family Mart ยังมีสาขาไม่ถี่ยิบเท่าร้านกาแฟดังเจ้านี้ด้วยซ้ำไป หรือแม้แต่การเช่าจักรยานในเมืองก็ใช้ระบบอิเล็กทรอนิคส์กันแล้ว
กลับมาที่เมืองไทยของเราบ้าง ระบบ “พร้อมเพย์” (PromptPay) อี-เพย์เมนต์ของรัฐบาลที่กำลังจะเริ่มใช้จริงในครึ่งปีหลังนี้ น่าจะทำให้เกิดภาพคล้ายๆกันขึ้นในบ้านเรา ยิ่งรัฐบาลออกข่าวว่าจะใช้ “ยาแรง” ในการบังคับ เช่นให้คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่าเดิมสำหรับการจ่ายผ่านระบบนี้ ส่วนใครใช้เงินสดก็คิด 10% ไป (ตามที่ว่าจะขึ้น VAT มาหลายปีแล้ว) หรือการบังคับให้รับจ่ายเงินกับหน่วยงานของรัฐ เช่นการคืนภาษีผ่านระบบนี้ คงจะจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบดังกล่าวได้มากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ เข้ามา ก็ต้องดูเรื่องความปลอดภัยของระบบให้รัดกุมแน่นหนาด้วย ควบคู่กันไปกับการทำความเข้าใจถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงในแง่ผู้ใช้ จะได้ไม่เกิดดราม่าแบบที่แชร์กันบนโลกออนไลน์ว่า บางแบงก์เขียนเงื่อนไขการลงทะเบียนผูกบัญชีไว้กับระบบนี้ทำนองว่าไม่รับผิดชอบกรณีถูกแฮกหรืออะไรทำนองนั้น ทำให้คนตกใจกลัวกันไปพักหนึ่ง
ที่จริงความเห็นส่วนตัวผมว่ามันก็พอๆกับตอนที่เราเอาเครื่องเอทีเอ็มเข้ามาใช้ในยุคแรกๆ นั่นแหละครับ คือมันสะดวกขึ้นมาก ถึงจะไม่ได้ปลอดภัย 100% แต่หากเลือกจำกัดเงินในบัญชีที่ใช้ และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานตามสมควร ก็น่าจะจำกัดความเสียหายผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่พอรับได้ ซึ่งก็อาจจะไม่แตกต่างหรือปลอดภัยกว่าจากการพกเงินสดทีละมากๆ ไปไหนมาไหนแล้วทำหล่นหายหรือถูกขโมยจี้ปล้นไปด้วยซ้ำ
ที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างก็คือเมื่อเป็นการรับจ่ายด้วยมือถือ คงยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ไม่เป็นหรือไม่คล่อง ซึ่งทำให้การใช้เงินสดยังคงมีความจำเป็นอยู่ ดังที่เห็นได้จากตัวอย่างในเมืองจีนแล้วว่าคนอีกไม่น้อยยังตามไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าขนาดคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่เราที่เกษียณไปแล้ว เดี๋ยวนี้ยังสามารถหัดเล่น LINE จนคุยกันได้เป็นเรื่องเป็นราว ส่งดอกไม้ให้กันได้ทุกเช้าเป็นแถว ^_^ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปหากมีแรงจูงใจให้ใช้มากพอ และสามารถอ่านออกเขียนได้ในระดับหนึ่ง
ซึ่งหน้าที่ของรัฐและผู้ให้บริการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือใครๆ ก็ตาม ก็คือทำให้ระบบมันใช้ง่าย ปลอดภัย มีแรงจูงใจมากพอนี่แหละครับ แล้วเราจะได้เป็น “Less cash society” (สังคมใช้เงินสดน้อย) เข้าไปอีกนิดนึง โดยยังไม่ต้องไปถึงขั้น cashless society ที่ไม่ใช้เงินสดกันเลยก็ได้ :-)
เรื่องและภาพ: วศิน เพิ่มทรัพย์ DPlus Guide Team