ชวนเดิน

ยุคสมัยนี้คงปฎิเสธไม่ได้เลยว่า กระแส “ตลาด” กำลังมาแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นตลาดย้อนยุค, ตลาดน้ำ, ตลาดเปิดท้าย, ตลาดท้องถิ่นประจำจังหวัด, ตลาดสด รวมไปถึงถนนคนเดิน เราว่าแต่ละตลาดล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์และมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ไม่มากก็น้อย

เราก็เป็นคนหนึ่งที่ในหนึ่งอาทิตย์ได้ไปเดินตลาดบ่อยมากๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสดตอนเช้า ตลาดขายของที่ออฟฟิศในตอนเที่ยง ตลาดเปิดท้ายตามแหล่งต่างๆในตอนเย็นหลังเลิกงาน พอถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เมื่อไหร่ก็ไปนู่นเลย ตลาดน้ำ ตลาดย้อนยุคอะไรแบบนี้ เราว่าหลายๆ คนน่าจะเหมือนเรานะ ฮ่าฮ่า

วันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนมาเที่ยวตลาดที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวนครศรีธรรมราช และประชาชนในจังหวัด นั่นก็คือ  “หลาดหน้าพระธาตุ” ซึ่งก็คือ ตลาดหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ ถนนคนเดินหน้าวัดพระมหาธาตุฯ ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชนั่นเอง มีชื่อภาษาอังกฤษด้วยนะ ว่า “Phrathat Night Market”

ชวนเดิน "หลาดหน้าพระธาตุ" ชม ชิม ช้อปตลาดของกินท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

ชวนเดิน "หลาดหน้าพระธาตุ" ชม ชิม ช้อปตลาดของกินท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

คำว่า “ตลาด” คนใต้เรียกว่า “หลาด” จึงเป็นที่มาของชื่อ “หลาดหน้าพระธาตุ” ตลาดที่ว่านี้ นับตั้งแต่วันเปิดตลาดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 ก็เป็นที่เที่ยวที่เพิ่งเปิดมาได้เกือบๆ ปี  ภายใต้สโลแกน “ตลาดต้องชม บนถนนสายธรรม” ตลาดนี้เปิดทุกๆ วันเสาร์ ตั้งแต่สี่โมงเย็นถึงสามทุ่ม โดยการปิดถนนหน้าวัดพระมหาธาตุทั้ง 4 เลน แปลงเป็นตลาดให้ผู้คนมาแวะ ชม ชิมและช้อปอย่างสนุกสนาน

บรรยากาศภายในหลาดหน้าพระธาตุเป็นไปด้วยความคึกคัก มีขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้านของคนใต้ เรียกว่ามีครบทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน อาทิเช่น หนมขี้มัน หนมค่อม หนมด้วง หนมนิ่ง หนมตาบอด หนมเจาะหู หนมโค หนมลา เหนียวห่อกล้วย ข้าวเกรียบว่าว ข้าวยำเครื่อง ลูกเห็บทอด เป็นต้น ซึ่งขนมและอาหารบางอย่างมีเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเรียกว่าเป็นขนมอาหารเฉพาะท้องถิ่นเลยก็ว่าได้ ขนมแปลกๆ ขนมหายากก็เจอได้ที่นี่

นอกจากนี้ยังมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP  ประเภทต่างๆ มาจัดแสดงและจัดจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้ซื้อเป็นของกินและของฝาก ซึ่งที่นี่มีนโยบายรับฝากขยะทุกร้าน และไม่ให้ใช้ถุงพาสสติกด้วยนะ พ่อค้าแม่ค้านิยมใช้ใบตองและถุงกระดาษในการบรรจุอาหารและสินค้าต่างๆ ที่ลูกค้าซื้อแทน

ร้านค้าใน "หลาดหน้าพระธาตุ" หรือถนนคนเดินหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

ร้านค้าใน "หลาดหน้าพระธาตุ" หรือถนนคนเดินหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

ร้านขายของเก่าใน "หลาดหน้าพระธาตุ" หรือถนนคนเดินหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

รวมไปถึงมีการสาธิตการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การรำมโนราห์ การแสดงหนังตะลุง การร้องเพลงบอก เป็นต้น ซึ่งหาชมได้ยากในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์วัฒนธรรมของนครฯ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ส่วนการแสดงนั้น ก็มีการจัดพื้นที่ลานการแสดงที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีความสามารถ ทั้งการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมก็ดี ดนตรีก็ได้ หรือจะโชว์ความสามารถต่างๆก็ได้เหมือนกัน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ลาน ได้แก่

– ลานที่ 1 การแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรม
– ลานที่ 2 การแสดงดนตรี โชว์ต่างๆ
– ลานที่ 3 การแสดงเปิดหมวกของนักเรียนและนักศึกษา

เวทีการแสดง ณ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช
ลานการแสดง ณ “หลาดหน้าพระธาตุ” นครศรีธรรมราช
การแสดงหนังตะลุง ณ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช
การแสดงหนังตะลุง ณ “หลาดหน้าพระธาตุ” นครศรีธรรมราช
เวิร์กช้อปทำหนังตะลุง ที่ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช
เวิร์กช้อปทำหนังตะลุง ที่ “หลาดหน้าพระธาตุ” นครศรีธรรมราช
เวิร์กช้อปทำหนังตะลุง ที่ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช
มีให้ทำหนังตะลุงกันจริงๆ ใน “หลาดหน้าพระธาตุ” ทุกวันเสาร์

โชว์หนังตะลุง ที่ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช

โชว์หนังตะลุง ที่ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช

โชว์หนังตะลุง ที่ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช

เวิร์กช้อปทำหนังตะลุง ที่ "หลาดหน้าพระธาตุ" นครศรีธรรมราช

กิจกรรมก่อกองทรายตามประเพณีสงกรานต์ในบริเวณวัด ที่หลาดหน้าพระธาตุ

วันที่เราไปนั้น เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดีเลย จึงมีการก่อกองทรายตามประเพณีสงกรานต์ในบริเวณวัด และเป็นวันที่คนเยอะมาก

นอกจากเดินชิล หาของกิน ดูของแปลกแล้ว เรียนรู้วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของคนที่นี่ เราก็จะยังได้เข้าไปสักการะพระบรมธาตุ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดคู่เมืองคอนมาแต่ช้านานด้วยนะ เรียกว่าอิ่มทั้งกาย อิ่มทั้งใจ เพลิดเพลิน เดินชิล ปิดท้ายคืนอย่างสนุกสนานด้วย “หลาดหน้าพระธาตุ” แห่งนี้

หลาดหน้าพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
[info-t] ทุกวันเสาร์ 16:00 – 21:00 น.
[info-d] ถนนหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
[info-g] 8.411033, 99.966084

เรื่อง : E’Pa พาเที่ยว | ภาพ : E’Pa พาเที่ยว & Rangsivit